คุณภาพชีวิตดีๆ ที่เราฝันถึงอย่าง การมีชีวิตอยู่ในประเทศที่สามารถสูดอากาศดีๆ ได้อย่างเต็มปอด มองไปทางไหนก็มีแต่พื้นที่สีเขียวที่ยิ่งดูก็ยิ่งอิ่มเอมใจ ไปพร้อมๆ กับมีความเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะช่วยให้คนมีรายได้ที่มั่นคง ลืมตาอ้าปากได้ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าประเทศที่มีผลลัพธ์ดีๆ ต้องมีอะไรเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ และตอนนี้มีประเทศไหนที่จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศของเราได้บ้าง
หนึ่งในนั้นก็คือ “เดนมาร์ก” ประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์มาอย่างช้านาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม จนทำให้ เดนมาร์ก สามารถคว้าแชมป์ดัชนีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Performance Index (EPI) จากการจัดอันดับ Global Innovation Index (GII) มาครองได้ถึงสองปีซ้อน ด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
ฐานคิดดี : เพราะ “ธรรมชาติ” เป็นของทุกคนจึงต้องร่วมกันรักษาและมอบผลประโยชน์ให้แก่กัน
การเกษตรและปศุสัตว์เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเดนมาร์ก จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันและสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Co-Operatives the Danish Way” หรือ “The Danish cooperative movement” ขึ้นมา อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ การดำเนินกิจการในรูปแบบของสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยหรือรายใหญ่ ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาผลผลิตหรือการครอบครองทรัพยากรทางธรรมชาติที่มี จนถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า “one farmer-one vote”
ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของเดนมาร์ก รวมถึงด้านอื่นๆ อาทิ การค้าปลีก การธนาคารหรือแม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตมาทีหลัง มีผู้เล่นหรือกลุ่มคลัสเตอร์ที่หลากหลาย เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ หรือไม่ว่าจะมีนโยบายอะไรใหม่ๆ มา เช่น เป้าหมาย SDGs จากสหประชาชาติ (UN) ก็สามารถปรับตัวกับโลกได้อย่างทันท่วงที หรือจะเป็นการออกนโยบายใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ เช่น Denmark’s Food System Carbon Neutral by 2050 ก็สามารถดำเนินการเพื่อให้เกิดความร่วมมือได้ง่ายขึ้น
พลังงานดี : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนเป็น “ผู้ผลิตพลังงานลม” ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
ในระหว่างที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรปกำลังประสบปัญหาด้านพลังงานจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เดนมาร์กกลับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พร้อมตั้งการ์ดด้วยการผลิตพลังงานในแนวทางของตัวเอง นั่นก็คือ “พลังงานลม” เป็นพลังงานทางเลือกที่ประเทศร่วมกันพัฒนามานานนับทศวรรษ เนื่องจากจุดแข็งในทางภูมิศาสตร์ของประเทศเป็นพื้นที่ที่มีลมแรงตลอดทั้งปี แม้ในช่วงเริ่มต้นจะทดแทนสัดส่วนพลังงานทั้งหมดได้ไม่มาก แต่ไม่นานก็ค่อยๆ ขยับตัวเลขมาที่ช่วงประมาณ 40% จนในปัจจุบันมีการประเมินกันว่าภายในปี 2030 เดนมาร์กจะใช้พลังงานทางเลือกได้มากกว่า 50% เลยทีเดียว
จากจุดแข็งที่มี ทำให้เดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลมได้สูงสุดในยุโรป ซึ่งนอกจากจะเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศแล้ว ยังสามารถขายพลังงานให้กับเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ เยอรมนี และสวีเดน จนสร้างรายได้กลับเข้าประเทศได้อีกทางหนึ่ง แต่เท่านี้ยังไม่พอเพราะรัฐบาลเดนมาร์กยังตั้งเป้ากับโลกไว้ว่า ภายในปี 2030 เดนมาร์กจะกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานทางเลือกแบบ 100% ให้ได้
น้ำดี : ประเทศที่จัดการทรัพยากรน้ำที่ดีที่สุดของโลก น้ำสะอาดมีคุณภาพ แม้เกือบ 100% มาจากน้ำใต้ดิน
อีกสาธารณูปโภคที่สำคัญ ก็คือ “น้ำ” เพราะไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การเกษตร หรือทุกครัวเรือนล้วนต้องใช้น้ำกันทั้งสิ้น เดนมาร์กเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกจัดว่ามีทรัพยากรน้ำดีที่สุดในโลก น้ำประปาดื่มได้ พร้อมใช้ แม้เกือบ 100% มาจากน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาล ปัจจัยที่ทำให้ก้าวมาถึงในจุดนี้ได้ก็เพราะมีการพัฒนางานวิจัยที่ช่วยป้องกันสารปนเปื้อนอย่างเป็นระบบ เช่น มีการลดการใช้คลอรีนในการจัดการน้ำมานานกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างที่ปรึกษาเฉพาะทาง ผู้รับเหมา ห้องปฏิบัติการ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยหลายแห่งทั่วประเทศ
อีกทั้งเดนมาร์กยังมี “หลักการจ่ายภาษีสำหรับผู้ก่อมลพิษ” ตามพระราชบัญญัติการป้องกันสารปนเปื้อนบนดินของเดนมาร์ก (The Act on Contaminated Soil Denmark) ร่วมกับข้อกำหนดของการจัดการทรัพยากรน้ำของสหประชาชาติ (EU Water Framework Directive) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและมีการนำนวัตกรรมเข้ามาจัดการน้ำเสียและป้องกันสารปนเปื้อนในดินอย่างเป็นระบบ แถมยังมีการประเมินคุณภาพน้ำโดย The Danish Water and Waste Water Association (DANVA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำคนจากทุกภาคส่วนมาร่วมประเมิน ทำให้พร้อมตรวจสอบคุณภาพอย่างโปร่งใส
จากรากฐานคิดดี พลังงานดี น้ำดี การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโลกของ เดนมาร์ก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อม และยิ่งในวันที่โลกให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น นักลงทุนที่เห็นโอกาสก็หันมาลงทุนกับกิจการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน อานิสงค์ของการพัฒนาสิ่งนี้ก็ล้วนมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะสร้างสมดุลให้ผู้คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หลั่งไหลตามมาอีกด้วย
ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
อ้างอิง : The Environmental Performance Index (EPI)
https://en.wikipedia.org/wiki/
https://www.bloomberg.com