ชัยชนะอันโดดเด่นของ "โดนัลด์ ทรัมป์" ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สัปดาห์นี้ ทำให้เหล่านักการเมือง, ผู้นำอุตสาหกรรม และผู้บัญชาการทหารทั่วโลก เร่งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ก่อนที่เขาจะกลับไปทำงานที่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดี คนที่ 47 และเผชิญกับภูมิทัศน์ทั่วโลก ที่เต็มไปด้วยจุดร้อนหลายจุด ทั้งสงครามรัสเซียยูเครน ที่ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 3, ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอิหร่าน ตลอดจนการแข่งขันกันในฐานะมหาอำนาจกับจีน
คาดว่า ทรัมป์กลับมาพร้อมกับ "การจัดระเบียบโลกใหม่" เพื่อแก้ปัญหายุ่งเหยิงในโลก โดยแบ่งออกเป็นหลายประเด็น โดยเริ่มจากยุโรป ที่จะมีทั้งเรื่องของสงครามยูเครนกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต อยู่ด้วยกัน โดยทรัมป์เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะไม่เริ่ม ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดี และอ้างด้วยว่า เขาสามารถทำให้ความขัดแย้งยุติโดยทันควัน แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรซึ่งล่าสุด รายงานของวอลสตรีท เจอร์นัล อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับทีมงานของทรัมป์ว่าแผนของทรัมป์ คือการขัดขวางไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต อย่างน้อย 20 ปี และกับข้อเสนอการช่วยเหลือด้านอาวุธ
ในแผนยังรวมถึงการสร้างเขตปลอดทหาร (DMZ) ที่จะทำให้การสู้รบสงบลง และบีบให้ยูเครนต้องสูญเสียดินแดน 20% ที่จะเป็นส่วนหนึ่ง "เขตปลอดทหาร 800 ไมล์" แต่ไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่า เขตปลอดทหารหรือเขตกันชนนี้ จะได้รับการจัดการอย่างไร นอกเหนือจากการส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหรัฐฯ ไปประจำการ ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี กับกองเชียร์อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี พากันประสานเสียงไม่เห็นด้วย
แผนยูเครน อาจบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป เพราะทรัมป์แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะลดความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน บีบให้พันธมิตรในยุโรปต้องแบกรับภาระอันใหญ่หลวง ที่จะสร้างแรงกดดันให้เซเลนสกี ต้องยอมเข้าสู่การเจรจาไปจนถึงยอมเสียดินแดน ส่วนองค์การที่ดูแลความมั่นคงของโลก อย่างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลน ติกเหนือ หรือ นาโต ก็อยู่ในอาการร้อนรน เพราะทรัมป์อาจพาสหรัฐฯ ถอนตัวอออกจากการเป็นสมาชิก เพราะเขามองว่า ไม่ยุติธรรมที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายมาก กว่าประเทศอื่น ทั้งๆ ที่เป็น "ผู้ปกป้อง" ถ้าประเทศอื่นอยากได้รับการคุ้มครอง ก็ต้องจ่ายเพิ่ม
เรื่องการคุ้มครองยังลามไปถึงไต้หวัน ในขณะที่จีนมีพฤติกรรมคุกคามไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทรัมป์มองเห็นโอกาสว่า ไต้หวันควรจะต้อง "จ่ายค่าคุ้มครอง" ให้สหรัฐฯ ที่อาจทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องมีแผนสำรองเพื่อการป้องกันตนเองด้วยเช่นกัน ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอาวุธที่สำคัญของไต้หวัน มูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์
ประเด็นเกาหลีเหนือ ก็ถือเป็นความท้าทาย เพราะแม้ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ข้ามเส้นแบ่งที่เขตปลอดทหาร ไปประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่การพบกันครั้งที่ 2 ที่สิงคโปร์ ดูเหมือนจะให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้ความสัมพันธ์ที่เริ่มจะดีกลับตึงเครียด และเกาหลีเหนือหันไปจริงจังกับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ทรัมป์ถูกจับตามองว่า เขาจะใช้ไม้อ่อนหรือไม้นวมกับเกาหลีเหนือในการกลับมาครั้งนี้
ส่วนปัญหาตะวันออกกลาง ทรัมป์มีคำพูดถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูว่า เขาต้องปิดจ๊อบโดยเร็ว เขามี "รายชื่อที่ซับซ้อน" เกี่ยวกับคนที่จะเข้าไปดูแลปัญหานี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ของผู้สันทัดกรณีว่า ทรัมป์จะถือหางอิสราเอลมากขึ้น และคาดว่าจะใช้มาตรการที่ "แข็งกว่า" รัฐบาลของโจ ไบเดน โดยเฉพาะประเด็นนิวเคลียร์ ที่เขาจะต้องบีบอิหร่านหนักกว่าเดิมอย่างแน่นอน