ผ่านมา 6 วันแล้ว หลังจากพายุเฮลีน พัดขึ้นฝั่งที่รัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายนด้วยความรุนแรงของเฮอร์ริเคนระดับ 4 และทิ้งร่องรอยความเสียหายเป็นระยะทางกว่า 800 กม. ทั่วภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และมีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 162 ราย ใน 6 รัฐ ท่ามกลางความวิตกว่า ตัวเลขจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่อาจเป็นผู้ที่ยังติดต่อไม่ได้
และพายุสร้างความเสียหายย่อยยับแก่บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง โครงข่ายไฟฟ้า ระบบการสื่อสาร ถนน และสะพาน ส่วนผู้รอดชีวิตกำลังขาดแคลนสิ่งของจำเป็น ซึ่งรวมถึงอาหาร และน้ำดื่ม แอคคิวเวทเธอร์ ประเมินว่า ความเสียหายทั้งหมดและความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากพายุอาจอยู่ที่ราว 95,000-110,000 ล้านดอลลาร์
ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในขณะนี้ทำให้พายุเฮลีเป็นเฮอร์ริเคนที่ขึ้นฝั่งในแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ และคร่าชีวิตมากเป็นอันดับ 2 ในรอบ 50 ปี รองจากพายุแคทรินา ที่คร่าชีวิตอย่างน้อย 1,833 ราย ในปี 2548
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนาและรัฐเซาท์แคโรไลนา หลังพายุเฮลีนอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมพายุเฮลีนสร้างความเสียหายในวงกว้างห่างจากชายฝั่งอย่างมาก ทั้งที่ปกติแล้วพายุจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวลึกเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น
แม้พายุขึ้นฝั่งในเขตบิกเบนด์ของฟลอริดา แต่บางเมือง อย่าง ไมอามี ที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อย กม. ยังเผชิญกระแสลมแรงที่มีความเร็วถึง 110 กม./ชม. ซึ่งเป็นผลจากขนาดของพายุที่กว้างใหญ่มาก นอกจากนี้พายุทำให้มีฝนตกหนักมากเนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าพายุจะเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่หนึ่ง
พายุทำให้เกิดฝนตกวัดปริมาณได้เท่ากับฝนตกนานกว่า 6 เดือน ในบางพื้นที่ของนอร์ธแคโรไลนา และยังทำให้เกิดน้ำท่วมสูงทำสถิติ และสตอร์มเซิร์จสูง 4.5 เมตรในบางพื้นที่
นักวิทยาศาสตร์จากลอเรนซ์ เบิร์กเลย์ แนชันแนล แลบอราทอรี (Lawrence Berkeley National Laboratory) วิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ฝนตกมากขึ้นกว่า 50% ในช่วงที่พายุเฮลีนพัดปกคลุมในบางพื้นที่ของรัฐจอร์เจีย, รัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐนอร์ธแคโรไลนา นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณฝนตกในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า เนื่องจากปัญหาโลกร้อน
นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ของไคลมาเมเตอร์ (ClimaMeter) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศของยุโรป พบว่า มหาสมุทรและบรรยากาศที่อุ่นขึ้นทำให้ผลกระทบจากพายุรุนแรงขึ้น และพายุเฮอร์ริเคน อย่าง เฮลีน ทำให้มีฝนตกมากขึ้นเกือบ 20% ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ และมีกระแสลมรุนแรงขึ้น 7% ในอ่าวเม็กซิโกเมื่อเทียบกับช่วงหลายสิบปีที่แล้ว
ฤดูเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอทแลนติกยังมีเวลาถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน และไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะเกิดพายุหลังจากเวลาดังกล่าวด้วย และมีสัญญาณด้วยว่า พายุรุนแรงจะก่อตัวเร็วขึ้นในปีนี้ เนื่องจากสภาพน้ำทะเลที่อุ่นมากในทะเลแคริบเบียน