svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

แคปซูลของสเปซเอ็กซ์กลับถึงโลก หลังนำเอกชนเดินอวกาศสำเร็จครั้งแรก

แคปซูลของสเปซเอ็กซ์นำลูกเรือ 4 คน กลับสู่โลกอย่างปลอดภัยในวันนี้ หลังสร้างประวัติศาสตร์ทำภารกิจเดินอวกาศ ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนและคนที่ออกนอกตัวยานไม่ใช่นักบินอวกาศมืออาชีพของภาครัฐเป็นครั้งแรกของโลก

แคปซูลของสเปซเอ็กซ์กลับถึงโลก หลังนำเอกชนเดินอวกาศสำเร็จครั้งแรก

แคปซูล “ครูว์ ดรากอน” (Crew Dragon) ขนาดกว้าง 4 เมตร อาศัยร่มชูชีพ 4 ตัว ร่อนลงจอดในอ่าวเม็กซิโก ใกล้เกาะปะการัง ดราย ทอร์ทูกาส ของรัฐฟลอริดาในสหรัฐฯ เมื่อเวลา 3.37 น. ของวันอาทิตย์ (15 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสิ้นสุดภารกิจนาน 5 วันของโครงการ “โพลาริส ดอว์น” (Polaris Dawn) ของสเปซเอ็กซ์

และลูกเรือ 4 คน ได้แก่ จาเร็ด ไอแซกแมน มหาเศรษฐีพันล้านและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี, วิศวกรของสเปซเอ็กซ์ 2 คน และอดีตนักบินอวกาศของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ออกจากแคปซูลได้อย่างปลอดภัย

ภารกิจโพลาริส ดอว์น ที่ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันอังคาร (10 กันยายน) ประสบความสำเร็จ โดยสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นสู่วงโคจรในระดับเหนือพื้นโลก 1,408 กม. ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเดินทางในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

แคปซูลของสเปซเอ็กซ์กลับถึงโลก หลังนำเอกชนเดินอวกาศสำเร็จครั้งแรก

แคปซูลของสเปซเอ็กซ์กลับถึงโลก หลังนำเอกชนเดินอวกาศสำเร็จครั้งแรก

นอกจากนี้ภารกิจนี้ยังสร้างประวัติศาสตร์ มีนักบินอวกาศเอกชนเดินอวกาศภายนอกยานได้สำเร็จครั้งแรกของโลกเมื่อวันพฤหัสบดี (12 กันยายน) ไอแซกแมนเป็นเอกชนคนแรกที่เดินอวกาศขณะอยู่เหนือพื้นโลกเกือบ 740 กม. ตามด้วย ซาราห์ กิลลิส วิศวกรของสเปซเอ็กซ์ โดยไอแซกแมนเป็นมนุษย์คนที่ 264 ที่เดินอวกาศ และกิลลิสเป็นลำดับที่ 265

ทั้งคู่ยืนอยู่บันไดที่ยื่นขึ้นจากประตูของแคปซูลรวมระยะเวลาเกือบ 30 นาที โดยไอแซกแมนโผล่พ้นแคปซูลในระดับเอว และกิลลิสโผล่พ้นแคปซูลในระดับหัวเข่า  โดยการทดสอบนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ ทดสอบชุดนักบินอวกาศและการทำงานต่าง ๆ ของแคปซูล

ลูกเรือทั้ง 4 คน ยังทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เกือบ 40 อย่างซึ่งรวมถึง ผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงต่อร่างกายมนุษย์ และเทคโนโลยีการแพทย์ การสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมอินเทอร์เน็ต “สตาร์ลิงก์” ของสเปซเอ็กซ์

ความสำเร็จของภารกิจนี้ยังทำให้การท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์พัฒนาขึ้นอีกก้าวสู่การเดินทางที่ไกลเกินกว่าวงโคจรของโลก ซึ่งรวมไปถึง การเดินทางสู่ดวงจันทร์ในอนาคต