ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ส่งคำเตือนเมื่อวันพฤหัสบดี (12 กันยายน) ก่อนที่นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ของอังกฤษ จะเข้าพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตันในวันศุกร์ และคาดว่า ทั้งคู่จะหารือเรื่องการอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของชาติตะวันตก โจมตีเป้าหมายลึกเข้าไปในแผ่นดินของรัสเซียได้ ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นว่า ยูเครนจะพ่ายแพ้ในสนามรบ
ปูติน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า รัสเซียจะถือว่า การตัดสินใจดังกล่าวของชาติสมาชิกนาโต ได้แก่ สหรัฐฯ และชาติยุโรป เป็นการเข้าสู่สงครามในยูเครนโดยตรง และจะต้องเผชิญการสู้รบกับรัสเซีย และรัสเซียจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างเหมาะสมสำหรับการก่อภัยคุกคามต่อรัสเซีย
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ปรับนโยบายที่อนุญาตให้ใช้อาวุธที่สหรัฐฯ มอบให้ สำหรับโจมตีข้ามพรมแดนเข้าไปยังชายแดนบางส่วนในรัสเซียได้ แต่ประธานาธิบดีไบเดน ยังไม่ยอมอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินรัสเซีย แม้ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เรืยกร้องมานานแล้ว ท่ามกลางความกังวลว่า สงครามจะลุกลามบานปลาย
สหรัฐฯ จัดส่งระบบขีปนาวุธทางยุทธิวิธีพิสัยไกล ATACMS ล็อตแรกให้ยูเครนเมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยขีปนาวุธมีพิสัยการยิงเกือบ 290 กม. และยูเครนใช้ ATACMS ทำลายเป้าหมายทางทหารของรัสเซียเฉพาะในแคว้นไครเมีย ซึ่งรวมถึง ระบบป้องกันภัยทางอากาศ คลังแสง และลานบิน
ถ้อยแถลงของปูตินเมื่อวานยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า กองทัพยูเครนคงไม่มีศักยภาพพอที่จะใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่มีความแม่นยำสูงโดยลำพัง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการชี้เป้าหมายจากชาติสมาชิกนาโต
ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลข่าวกรองแก่ยูเครน และช่วยระบุเป้าหมายเพื่อโจมตี แต่ไม่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธพิสัยไกล
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ และสมาชิกนาโต มีขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ และพันธมิตร กล่าวหาว่า อิหร่านจัดหาขีปนาวุธทิ้งตัวให้กับรัสเซียเพื่อใช้ทำสงครามในยูเครน แต่อิหร่านปฏิเสธข้อกล่าวหา