Apple แจ้งเรื่องนี้เป็นการภายในเมื่อวังอังคาร (27 กุมภาพันธ์ 2567) โดยเจฟฟ์ วิลเลียมส์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ (COO) และเควิน ลินช์ รองประธานที่รับผิดชอบโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า สร้างความตกตะลึงให้พนักงานเกือบ 2,000 คน โดยระบุว่า โครงการที่มีชื่อว่า "โปรเจกต์ไททัน" (Project Titan) กำลังเริ่มปิดตัวลง และพนักงานทีมผลิตรถยนต์ที่รู้จักในชื่อ "กลุ่มโครงการพิเศษ" (Special Projects Group) หรือ SPG ก็จะถูกโยกไปอยู่แผนกปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI และพวกเขาจะต้องโฟกัสไปที่โครงการ AI ต่าง ๆ ที่บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
Apple ซึ่งมีฐานอยู่ที่เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งใจผลิตซูเปอร์คาร์เพื่อให้สมกับเป็นแบรนด์ "ลักซ์ชัวรี โซไซตี" (Luxury Society) ที่เน้นลูกค้ากำลังซื้อสูง และบุคคลากรในทีม SPG มีทั้งวิศวกรด้านฮาร์ดแวร์และนักออกแบบรถยนต์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าบางส่วนสามารถโยกไปทำงานในทีมอื่น แต่บางส่วนจะถูกเลิกจ้าง แต่ไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด แม้จะสร้างความตกตะลึงให้สาวกที่อยากเห็นโปรเจกต์ใหม่ของ Apple และพนักงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ช่วยบรรเทาความกังวลให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้หุ้นของ Apple ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 1% เมื่อวันอังคาร
อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ "เทสลา อิงค์" (Tesla Inc.) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ได้โพสต์แสดงความยินดีในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ที่เขาเป็นเจ้าของ ด้วยการใส่รูป "อิโมจิ" กับ "บุหรี่" แสดงถึงการหมดคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว
— Elon Musk (@elonmusk) February 27, 2024
การพับโครงการที่ใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ ทำให้ Apple ถอยออกจากวงการอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างสิ้นเชิง หลังเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อหวังสร้างรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ภายในตกแต่งให้หรูแบบเดียวกับลีมูซีน (limousine) และระบบนำทางด้วยเสียง แต่ปรากฎว่าโครงการติดขัดตั้งแต่ต้น เมื่อมีการเปลี่ยนหัวหน้าทีมและยุทธศาสตร์หลายครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้คือ ดั๊ก ฟิลด์ ที่กลายไปเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ฟอร์ด มอเตอร์ โค. (Ford Motor Co.)
Apple ยังใช้เวลาหลายปีในการผลิตรถยนต์และคิดค้นการออกแบบมามากมาย นอกเหนือจากรูปลักษณ์ของยานพาหนะแล้ว เทคโนโลยีการขับขี่ด้วยตนเองก็ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยมีการทดสอบระบบบนท้องถนนมาตั้งแต่ปี 2560 โดยใช้รูปลักษณ์ภายนอกของเล็กซัส (Lexus SUV) และส่งหลายสิบคันไปลงถนนหลายสายในสหรัฐฯ เพื่อทำการทดสอบ ทั้งยังทดสอบส่วนประกอบที่เป็นความลับเพิ่มเติมบนเส้นทางขนาดยักษ์ ในเมืองฟีนิกซ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของไครสเลอร์ (Chrysler) แต่ที่สุด ก็พบว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้คึกคักอย่างที่หวัง อีกทั้งการเติบโตของยอดขายก็ลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะหลายปัจจัย ทั้งราคาที่สูง สถานีชาร์จรถไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ซื้อกระแสหลักเกิดความท้อที่จะเป็นไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส โค. (General Motors Co.) กับ ฟอร์ด (Ford) หันไปมุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฮบริดจ์มากขึ้น
แม้กระทั่งเทสลาที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ก็ยังได้รับสัญญาณเตือนว่าอัตราการขยายตัวจะ "ลดลงอย่างเห็นได้ชัด" ในปีนี้ การเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะลดลงเหลือ 11% ในปีนี้ จากอัตราการเติบโตประมาณ 47% ในปี 2566