การเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติของอินโดนีเซียที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ มีประชากรเจนวาย (Millennials) กับเจนซี (Gen Z) ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ได้รับการคาดหมายว่าจะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 52% หรือ 106 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดราว 205 ล้านคน หรือ 75% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อชี้ชะตาว่าใครจะมาเป็นผู้นำคนใหม่ในรอบ 10 ปี ของประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้
อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีมากกว่า 279 ล้านคน จะต้องเลือกผู้สมัครที่มาแทนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ โจโกวี ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อปี 2562 มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ 82% และมีอัตราการงดออกเสียงต่ำที่สุด นับตั้งแต่เริ่มจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2547
การเลือกตั้งประธานาธิบดีปีที่เกิดขึ้น 5 ปีครั้ง มีผู้สมัครที่ชิงชัยกันอยู่ 3 คน แต่ละคนมีอายุเกิน 50 ปี ได้แก่ กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดชวากลาง วัย 55 ปี ซึ่งเป็นผู้สมัครของพรรครัฐบาล PDI-P, อานีส บาสเวดัน อดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา วัย 54 ปี ที่ต่างก็เลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่อยู่ในวัยไล่เลี่ยกันหรือแก่กว่าเล็กน้อย ส่วนปราโบโว สุเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหม วัย 72 ปี ที่กำลังมีคะแนนนำอยู่ในโพลทุกสำนักจากการสำรวจเมื่อเดือนมกราคม โดยเป็นคนเดียวที่เลือกคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีที่อายุต่ำกว่า 40 ปี คือ จิบราน ราคาบูมิง ราคา บุตรชายวัย 36 ปี ของประธานาธิบดีโจโกวี
ในฐานะที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งพบว่า แรงผลักดันในการใช้สิทธิ์ของพวกเขามีปัจจัยหลัก คือประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น การว่างงาน โดยแม้อัตราว่างงานจะอยู่ที่ 3.5% เมื่อปี 2565 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ประมาณการโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่ก็พบว่าประชากรที่มีอายุ 15-24 ปี ยังประสบปัญหาว่างงาน
เกือบ 60% ของแรงงานในประเทศอยู่ในภาคนอกระบบ ซึ่งรวมถึงผู้ช่วยแม่บ้านหรือคนทำงานบ้าน คนขายของริมถนน และคนทำงานอิสระหรืองานชั่วคราว (Gig Worker) ที่ขาดการคุ้มครองทางสังคม ข้อมูลของสำนักงานสถิติกลางของอินโดนีเซีย ปี 2565 ระบุว่ารายได้สุทธิเฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกระบบ อยู่ที่ประมาณ 125 ดอลลาร์ (4,500 บาท) ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยของประเทศถึง 40%
คนรุ่นใหม่ยังวิตกต่อปัญหาคุณภาพอากาศ เมื่อปี 2566 กรุงจาการ์ตาถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก ตามดัชนีวัดคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ (IQAir) ทั้งยังแย่ลงทุกวันในช่วงครึ่งหลังของปี และทั้งปีคุณภาพอากาศดีมีเพียง 3 วัน
ยังมีเรื่องของโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อมูลของ "We Are Social 2023 Digital Report" ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียทั่วโลก ระบุว่าชาวอินโดนีเซียใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในโลก โดยเป็นหนึ่งใน top 5 ที่ใช้เวลาบนมือถือ 5 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ส่วนอีก 4 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ บราซิล เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ยังพบว่า 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือชาวอินโดนีเซียที่อายุต่ำกว่า 40 ปี พึ่งพาข้อมูลข่าวสารจากโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ตามด้วยโทรทัศน์ 40%