จรวด “ฟอลคอน เฮฟวี” (Falcon Heavy) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยของศูนย์อวกาศเคนเนดี ที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดาเมื่อเวลา 20.07 น. ของวันพฤหัสบดี (28 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อปล่อยเครื่องบินอวกาศ X-37B ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ไม่มีลูกเรือโดยสารและควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติขึ้นสู่วงโคจร โดยมีการถ่ายทอดสดทางเวบไซต์ของสเปซเอ็กซ์ และบูสเตอร์ของจรวดกลับคืนสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย
การเดินทางสู่อวกาศของ X-37B ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้ว นับตั้งแต่เริ่มขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกในปี 2553 และการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรครั้งล่าสุดมีขึ้นหลังจากประสบปัญหาในช่วงกว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความพยายามปล่อยทั้ง 3 ครั้งต้องถูกยกเลิกเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายและปัญหาทางเทคนิคที่ไม่ระบุชัด
ขณะที่เมื่อสองสัปดาห์ก่อน เครื่องบินอวกาศไร้คนบังคับของจีน ที่มีชื่อว่า “เฉินหลง” หรือ “มังกรศักดิ์สิทธิ์” ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งเป็นภารกิจครั้งที่ 3 นับจากปี 2563 ทำให้การแข่งขันด้านอวกาศระหว่างสองมหาอำนาจเข้มข้นยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมา เครื่องบินอวกาศ X-37B ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด ฟอลคอน 9 (Falcon 9) ของสเปซเอ็กซ์ และจรวด แอตลาส 5 (Atlas V) ของ ยูไนเต็ด ลอนช์ อัลลายแอนซ์ ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของล็อกฮีด มาร์ติน และโบอิง
และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้จรวด ฟอลคอน เฮฟวี ซึ่งสร้างแรงขับดันมากกว่าจรวดทั้งสองรุ่นร่วมกัน ทำให้คาดว่า เครื่องบินอวกาศ X-37B จะสามารถเดินทางสู่วงโคจรที่ไกลมากขึ้น ซึ่งอาจไปถึงดวงจันทร์ หรือ ดาวอังคาร
ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เครื่องบินอวกาศไร้คนบังคับของสหรัฐฯ จะปฏิบัติภารกิจในอวกาศนานเท่าใด โดยภารกิจแต่ละครั้งใช้เวลายาวนานขึ้น และภารกิจครั้งสุดท้ายสิ้นสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังเครื่องบินอยู่ในอวกาศติดต่อกันเกือบ 909 วันหรือราว 2 ปีครึ่ง
เครื่องบิน X-37B ถูกสร้างขึ้นโดยโบอิง มีลักษณะคล้ายกับยานอวกาศปลดระวางขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) โดยมีลำตัวยาวเพียง 9 เมตร ไม่ต้องมีนักบินอวกาศควบคุม และมีระบบลงจอดอัตโนมัติ เครื่องบินทะยานขึ้นในแนวดิ่งเหมือนจรวด และลงจอดในแนวราบเหมือนเครื่องบิน และถูกออกแบบให้โคจรที่ระดับความสูง 240-800 กม.