ยู อึยดง หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรคพลังประชาชน (People Power Party) หรือ PPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ แถลงเมื่อวันศุกร์ (17 พฤศจิกายน 2566) หลังการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ว่า
"ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดความขัดแย้งในสังคม ในเรื่องการบริโภคเนื้อสุนัข ผ่านการออกกฎหมายพิเศษเพื่อหยุดมัน"
โดยกฎหมายจะเสนอโดยรัฐบาลและพรรคร่วม เพื่อบังคับใช้คำสั่งห้ามบริโภคเนื้อสุนัขภายในปีนี้ พร้อมกับเรียกร้องขอเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้านเพื่อให้รัฐสภาสามารถผ่านกฎหมายนี้ได้สำเร็จ
ชอง ฮวางกึน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร กล่าวในการประชุมนี้ด้วยว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและจะมีมาตรการสนับสนุนอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ สำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปิดกิจการลง ซึ่งมีรายงานว่าร่างกฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัข จะรวมถึงระยะเวลาผ่อนผัน 3 ปี และเงินสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค้าเนื้อสุนัข เพื่อนำไปประกอบธุรกิจอื่น
การกินสุนัขเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมานานแล้วบนคาบสมุทรเกาหลี โดยเชื่อว่าเนื้อสุนัขมีสรรพคุณคลายความร้อนในฤดูร้อน แต่ในเกาหลีใต้การกินเนื้อสุนัขไม่เป็นที่พบเห็นกันทั่วไปอย่างที่เคยเป็นมา แต่บางภัตตาคารก็ยังมีเมนูเนื้อสุนัข และยังมีผู้สูงอายุบางคนที่ยังคงกินเนื้อพวกมันอยู่
คิม กอนฮี สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ ได้เป็นกระบอกเสียงในการวิพากษ์วิจารณ์การกินเนื้อสุนัข ส่วนประธานาธิบดียุน ซุก-ยอล ผู้เป็นสามี ก็ยังรับเลี้ยงสุนัขจรจัดอีกด้วย
ที่ผ่านมากฎหมายห้ามกินเนื้อสุนัขมักล้มเหลว เนื่องจากการประท้วงจากวงการอุตสาหกรรมเนื้อสุนัข และประเด็นข้อกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เช่น ฟาร์มสุนัขและร้านอาหาร องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ "ฮิวแมน โซไซตี อินเตอร์เนชั่นแนล" (Humane Society International) ระบุว่า
"ฝันที่เป็นจริงสำหรับสำหรับพวกเราทุกคนที่รณรงค์กันอย่างหนักเพื่อหยุดความโหดร้ายทารุณนี้"
ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะพันธุ์สุนัขราว 1,150 แห่ง โรงเชือด 34 แห่ง บริษัทกระจายสินค้า 219 แห่ง และร้านอาหารราว 1,600 แห่ง ที่มีเนื้อสุนัขอยู่ในเมนู จากการสำรวจของแกลลัพ โพลล์ (Gallup Poll) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามในเกาหลีใต้ 64% คัดค้านการบริโภคเนื้อสุนัข และมีเพียง 8% ที่ได้กินเนื้อสุนัขในช่วงปีที่ผ่านมา น้อยกว่าเมื่อปี 2558 ราว 27%