เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ 3 คน กับบุคคลอีก 2 คน ที่บรรยายสรุปในรายงานข่าวกรองว่า สหรัฐฯ ขอสรุปว่าพลเอกหลี่ ฉางฟู ถูก "ถอด" ออกจากความรับผิดชอบทั้งหมดในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม และอยู่ระหว่างการถูกสอบสวน อันเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ถึงความผันผวน ที่เกิดขึ้นในหมู่ "อีลิท" หรือ เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายทางทหารและนโยบายต่างประเทศของจีน
พลเอกหลี่ ปรากฎตัวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ตอนที่เขากล่าวสุนทรพจน์ที่เวที "ChinaAfrica Peace and Security Forum" ขณะที่ทริปการเยือนต่างประเทศครั้งสุดท้าย คือ กรุงมอสโกของรัสเซียและกรุงมินสค์ของเบลารุส เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่เขาได้หารือกับเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียนอกรอบการประชุมด้านความมั่นคง และกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส
สหรัฐฯ เชื่อว่าพลเอกหลี่ถูกสอบสวน หลัง Financial Times รายงานอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน และสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวที่สอดคล้องว่า พลเอกหลี่ยกเลิกการประชุมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของเวียดนามใน "นาทีสุดท้าย" เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่เวียดนาม 2 คน เปิดเผยว่า พลเอกหลี่ขอยกเลิกการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะ "ปัญหาด้านสุขภาพ" และจวบจนวันนี้พลเอกหลี่ได้หายหน้าไปกว่า 2 สัปดาห์แล้ว
ถ้าการปลดพลเอกหลี่เป็นเรื่องจริง ก็ถือเป็นความปั่นป่วนภายในของฝ่ายความมั่นคงที่น่าจับตาของจีน เพราะเมื่อ 2 เดือนก่อน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งจะปลดนายพล 2 คน ในกองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (People's Liberation Army Rocket Force) ที่มีภารกิจสำคัญในการกำกับดูแลคลังแสงขีปนาวุธพิสัยไกลและอาวุธนิวเคลียร์ของจีน ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของนโยบายต่างประเทศก็ระส่ำระสายไม่แพ้กัน เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศ "ฉิน กัง" ก็หายหน้าไปนาน 1 เดือน ก่อนมีข่าวว่าถูกปลดเมื่อเดือนกรกฎาคม และข้ออ้างตอนที่เขาหายหน้าไปก็เกี่ยวข้องกับ "ปัญหาสุขภาพ" เช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 พลเอกหลี่เคยถูกฝ่ายบริหารสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ คว่ำบาตรฐานเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธรัสเซียของจีน เมื่อครั้งที่เขายังเป็นผู้บริหารของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการจัดหาและพัฒนาอาวุธ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมแล้ว จีนก็ไม่ยอมให้มีการพบกันระหว่างเขากับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ถ้าไม่สหรัฐฯ ไม่ยอมยกเลิกคว่ำบาตรเขาก่อน เปรียบเป็นการเติมเชื้อไฟให้ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร-ต่อ-ทหาร เลวร้ายขึ้นไปอีก
เดนนิส ไวล์เดอร์ อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ของสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ หรือ CIA ให้ความเห็นว่า ถ้าการถอดถอนรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บังคับบัญชากองกำลังจรวด มาจากปัญหาด้านคอร์รัปชัน ก็บ่งชี้ว่ากระบวนการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ระดับของประธานาธิบดีสีมีความ "บกพร่อง" อย่างยิ่ง และชี้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติภายในระบบ แม้เขาจะรณรงค์ต่อต้านมานับสิบปีก็ตาม
ไวล์เดอร์บอกด้วยว่า กองกำลังจรวดฯ ที่เดิมก็คือคลังแสงยุทโธปกรณ์ทั่วไป มีประวัติอันยาวนานในเรื่อง "การทุจริตที่เลวร้ายที่สุด" ในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ส่วน บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจาก "German Marshall Fund" ให้ความเห็นว่า การปลดพลเอกหลี่อาจช่วยบรรเทาความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ ทั้งยังขจัดอุปสรรคที่จีนยืนกรานก่อนหน้านี้ว่า จะไม่ยอมให้พลเอกหลี่พบกับออสติน เขาบอกด้วยว่าไม่คิดว่าการคุมกองทัพของประธานาธิบดีสีมีปัญหา แต่มันทำให้ตระหนักได้ว่ามีการคอร์รัปชันในระบบมโหฬารขนาดไหน