ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนหมุนเวียนประจำปีนี้ กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตาในวันอังคาร (5 กันยายน) โดยกล่าวว่า ความท้าทายในอนาคตทำให้เกิดการแข่งขันช่วงชิงอำนาจ และอาเซียนเห็นพ้องต้องกันว่า จะไม่เป็นตัวแทนของมหาอำนาจใด และจะทำงานร่วมกับใครก็ตามเพื่อสันติภาพและความรุ่งเรือง พร้อมทั้งบอกด้วยว่า อย่าใช้อาเซียนเป็นสนามแข่งขัน ที่จะเป็นการทำลายล้างซึ่งกันและกัน และใช้อาเซียนเป็นสนามของความร่วมมือเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรือง เสถียรภาพ สันติภาพแก่ภูมิภาคและทั้งโลก
การประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องครั้งนี้มีระยะเวลา 3 วันจนถึงวันที่ 7 โดยมีฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา และซานานา กุสเมา นายกรัฐมนตรีของติมอร์-เลสเต ซึ่งจะเป็นชาติสมาชิกใหม่ของอาเซียนเข้าร่วม ขณะที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยไม่สามารถเข้าประชุมในวันแรกเพราะมีกำหนดนำคณะรัฐมนตรีเข้าพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ และส่งนายศรันย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงต่างประเทศ เข้าร่วมพิธีเปิดแทน ส่วนเมียนมายังถูกห้ามเข้าร่วมการประชุมของอาเซียน สืบเนื่องจากวิกฤตหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ในวันอื่น ๆ อาเซียนจะหารือกับคู่เจรจา รวมถึงซัมมิตเอเชียตะวันออก และซัมมิตอาเซียนบวกสาม แต่ในครั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้เข้าร่วม โดยส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง เข้าประชุมแทน
เนื่องจากอินโดนีเซียผลักดันแนวคิด อาเซียนเป็นศูนย์กลาง : สรรค์สร้างความเจริญ (Asean Matters: Epicentrum of Growth)ในฐานะประธานอาเซียน ซัมมิตครั้งที่ 43 นี้มุ่งวางรากฐานสำหรับวิสัยทัศน์ระยะยาว, ส่งเสริมความยืดหยุ่นในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต, เสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางของการเติบโต และสร้างสันติภาพและความปลอดภัยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
และในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 และครั้งสุดท้ายของปีนี้ ผู้นำอาเซียนจะพิจารณาเรื่องแนวทางความร่วมมือฉบับใหม่ของภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันจันทร์สามารถบรรลุร่างข้อตกลง “ปฏิญญาอาเซียนฉบับที่ 4” (ASEAN Concord IV) เพื่อวางรากฐานของ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2045” (ASEAN Vision 2045) ที่จะช่วยเสริมศักยภาพของภูมิภาคในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคต โดยเรื่องนี้เป็นความคิดริเริ่มของอินโดนีเซีย แต่รายละเอียดของข้อตกลงยังต้องรอการพิจารณาจากระดับผู้นำในการประชุมครั้งนี้
ส่วนวาระร้อนสำหรับซัมมิตครั้งนี้ คือ วิกฤตความรุนแรงหลังรัฐประหารในเมียนมา และการทบทวนแผนสันติภาพ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่ไร้ความคืบหน้า และเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโนดีเซีย กล่าวในการประชุมเมื่อวันจันทร์ด้วยว่า อินโดนีเซียจะพยายามอย่างหนักเพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุแนวทางร่วมกันในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา ขณะที่ซัมบรี อับดุล กาดีร์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย เรียกร้องให้ใช้มาตรการรุนแรงที่มีประสิทธิภาพกับรัฐบาลทหารเมียนมา ที่สร้างเงื่อนไขและอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ
ซัมมิตอาเซียนในครั้งนี้ยังมุ่งเพิ่มความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก โดยเลขาธิการอาเซียน ร่วมกับ สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (IORA) และองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (PIF) ลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับในเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันจันทร์ด้วย
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวในพิธีลงนามด้วยว่า อาเซียนและชาติในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิภาคนี้เป็นเวทีการแข่งขันระหว่างชาติยักษ์ใหญ่ นอกจากนี้ควรเพิ่มความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น เศรษฐกิจ กิจการทางทะเล และสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมความยืดหยุ่นในภูมิภาค และผลักดันการเป็นศูนย์กลางการเติบโต
และในการประชุมครั้งนี้ผู้นำอาเซียนยังหวังบรรลุข้อตกลงอีกหลายเรื่อง รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และซัพพลายเชนที่มีความยืดหยุ่น, ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบนิเวศการชำระเงิน