คณะผู้เชี่ยวชาญของ 2 องค์กรภายใต้สังกัดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำประกาศเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของ “แอสปาร์แตม” สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ในวันศุกร์ (14 กรกฎาคม 2566)
สำนักงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ประกาศว่า แอสปาร์แตม เป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นการประกาศขึ้นบัญชีดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยมีความหมายว่า มีหลักฐานอย่างจำกัดว่า สารดังกล่าวอาจก่อมะเร็งได้ แต่ไม่ได้ประเมินเกี่ยวกับปริมาณการบริโภค
ดร. ฟรานเซสโก บรันกา ผู้อำนวยการแผนกความปลอดภัยโภชนาการและอาหารของWHO ยกตัวอย่างว่า คนที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ดื่มน้ำอัดลมที่ใส่แอสปาร์แตมแทนน้ำตาลมากกว่า 9-14 กระป๋องต่อวัน จึงจะเกินเกณฑ์ปริมาณที่แนะนำ โดยคำนวณตามค่าเฉลี่ยของแอสปาร์แตมที่ใส่ในเครื่องดื่ม
นอกจากนี้เขากล่าวว่า ภายใต้คำแนะนำนี้ WHO ต้องการให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาล หรือสารให้ความหวานในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ได้แนะนำให้บริษัทถอดผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารแอสปาร์แตม และไม่ได้แนะนำให้ผู้บริโภคหยุดบริโภคเช่นกัน เพียงแต่แนะนำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคใช้สารแอสปาร์แตมในปริมาณที่เหมาะสม
อุตสาหกรรมอาหารใช้แอสปาร์แตมอย่างกว้างขวางเพราะสามารถให้ความหวานมากถึง 200 เท่าของน้ำตาล และมีผลิตภัณฑ์เกือบ 6,000 รายการทั่วโลกที่ใส่สารแอสปาร์แตม