บทความจากกองบรรณาธิการข่าวของจาการ์ตาโพสต์ กล่าวพาดพิงถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่อาจไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม เพราะต้องพุ่งเป้าไปที่การเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม และพลเอกประยุทธ์ก็อยากจะกลับมาเป็นผู้นำของไทยอีก แต่ถ้าครั้งนี้ เขาพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ก็จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะพลเอกประยุทธ์เป็นผู้นำในชาติอาเซียนเพียงคนเดียว ที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเปิดเผย เพราะตัวเขาเองก็ยึดอำนาจจากการก่อรัฐประหารเช่นกัน
บทความนี้ยังเหน็บท่าทีของอาเซียนที่มีต่อเมียนมาในเวลานี้ โดยระบุว่า เข้าใจและซาบซึ้งต่อการที่ นาง Retno LP Marsudi รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผยบทบาทของตัวเองในฐานะทูตพิเศษอาเซียนประจำเมียนมา ในช่วงที่อินโดนีเซียได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ( 2023 ) ดูเหมือนว่า นางกำลังเดินตามรอยสุภาษิตที่ว่า " พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง "
ประเด็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ไม่มีแนวโน้มจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง ในคำกล่าวสุนทรพจน์ของอินโดนีเซียที่จะมีขึ้นในปีนี้ ในฐานะประธานอาเซียน
อาเซียนคงยากที่จะบรรลุในมติต่างๆ ต่อสถานการณ์เมียนมา การหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างเปิดเผยคงถูกจำกัดไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านความอ่อนไหว และการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา รวมถึงการที่หลายชาติอาเซียนกำลังสังเกตการณ์เหตุที่เกิดขึ้น
แต่การที่อินโดนีเซียยังคงเงียบกริบในเรื่องนี้ ก็สร้างความวิตกว่า อินโดนีเซียกำลังเดินตามรอยความล้มเหลวของประธานอาเซียนทั้งจากบรูไนและกัมพูชา ที่ไม่ได้ทำอะไรเลยในการช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาดีขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียบอกกับนักข่าวว่า ทุกอย่างมาถูกทางแล้ว ซึ่งก็หมายถึงแนวทางการทูตของอินโดนีเซีย นางอ้างถึงการปิดปากเงียบของกระทรวงต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเมียนมา ว่า เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความไว้วางใจ
อินโดนีเซียเริ่มเป็นประธานอาเซียนในเดือนมกราคม หลังการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 เมื่อปีที่แล้ว ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่า อินโดนีเซียจะยึดมั่นในจุดยืนต่อสถานการณ์เมียนมาที่เข้มงวดมากกว่าประธานอาเซียนคนก่อนๆ คือ ความต้องการให้ นายพล มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ให้เกียรติฉันทามติ 5 ข้อ ที่เขาเคยลงนามในกรุงจาการ์ตาเมื่อ 2 ปีก่อน
ฉันทามตินี้เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในเมียนมาทันที การเจรจาระหว่างทุกกลุ่มจะต้องเกิดขึ้น จะมีการแต่งตั้งทูตพิเศษดูแลสถานการณ์นี้ การยอมรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน และการยอมให้ทูตพิเศษเดินทางเยือนเมียนมาและพบปะกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
การจะทำให้ฉันทามตินี้มีความคืบหน้า ไม่แน่ว่า การทูตแบบเงียบๆ ของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียอาจจะมาถูกทางก็ได้ การทำอะไรแบบเงียบๆ ไม่ได้หมายความว่า หาสาระอะไรไม่ได้ รัฐมนตรีท่านนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานซึ่งล้วนแต่เป็นนักการทูตผู้เชี่ยวชาญ ที่ก็อาจจะแก้ปัญหานี้แบบเงียบๆ เพราะเล็งเห็นแล้วว่า จะได้ประโยชน์มากกว่า
บรรดากองบรรณาธิการข่าวของจาการ์ตาโพสต์ หวังว่า นาง Retno จะเผยภารกิจในเรื่องนี้ ออกสู่สาธารณชนมากขึ้น พวกเขากำลังเฝ้าคอยข่าวดีที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงที่ผู้นำอาเซียนมารวมตัวกันอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำที่จังหวัด East Nusa Tenggara ของอินโดนีเซียเดือนหน้า
โดยหวังว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะประกาศความคืบหน้าแบบเป็นเนื้อเป็นหนังในประเด็นของเมียนมากลางที่ประชุม และถ้ารัฐบาลทหารเมียนมายังคงดื้อดึง ทางจาการ์ตาโพสต์ก็อยากให้ผู้นำอินโดนีเซีย เรียกร้องให้ขับเมียนมาออกจากอาเซียน และอนุญาตให้รัฐบาลของฝ่ายต่อต้าน คือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา ได้เข้ามาเป็นผู้รับฟังการประชุมกับอาเซียน