svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าวประชาสัมพันธ์

ธนาคารไทยพาณิชย์ - กรุงเทพ ครองแชมป์ Bank of the Year 2025

09 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

วารสารการเงินธนาคาร ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2568 Bank of the Year 2025 ไทยพาณิชย์-กรุงเทพ ครองแชมป์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 3 สมัยซ้อน 2566-2568

ปีนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เป็นแชมป์ ธนาคารแห่ง 2568 Bank of the Year 2025 ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คือในปี 2566, 2567 และ 2568 โดยในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถสร้างกำไรสุทธิได้สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดที่ 49,232.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,274.35 ล้านบาท หรือ 2.66% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตสูงขึ้นมาอยู่ที่ 104,600 ล้านบาท โดยธนาคารใช้กลยุทธ์เลือกการเติบโตของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Loan Optimization) และการมีวินัยทางด้านราคา ในส่วนของเงินฝากขยายตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะบัญชีเงินฝากลูกค้าธุรกิจ

ในด้านของความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 18.92% หรือ 453,365 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.82% หรือ 427,000 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ 1.10% หรือ 26,364 ล้านบาท และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูง ที่ 152.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น

ธนาคารไทยพาณิชย์ - กรุงเทพ ครองแชมป์ Bank of the Year 2025

สำหรับนโยบายการดำเนินงานใน ปี 2568 ธนาคารไทยพาณิชย์ จะมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจใน 3 ด้าน ดังนี้

1. Value Driven Customer Strategy with Credit Efficiency Focus : การนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินอย่างเหมาะสมกับความต้องการ มูลค่า และระดับความเสี่ยงของลูกค้าเป้าหมาย เพื่อให้ธนาคารสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และตรงจุด ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินเชื่อ การบริหารต้นทุนสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการติดตามหนี้ (Collection Efficiency) เพื่อลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับธนาคารในระยะยาว

ภายใต้กลยุทธ์นี้ ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจะเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างมีนัยสำคัญ

2. Productivity Optimization : การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อควบคุมอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว ผ่านการเพิ่มผลิตภาพและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพใน 2 ด้านสำคัญ ได้แก่
     
(1) ด้านพนักงาน ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะและการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และ (2) ด้านไอที มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศในด้านเสถียรภาพของระบบธนาคาร ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และคุณภาพการให้บริการด้วยการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอทีให้ทันสมัยภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม และปรับสัดส่วนกระบวนการทำงานเป็นแบบอัตโนมัติ (Process Automation) มากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้

3. AI-First Bank : การเป็นธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วย AI เป็นหลัก โดยดำเนินการลงทุนเพื่อวางรากฐานให้องค์กรสามารถนำเอาเทคโนโลยี AI มาใช้ได้ในทุกส่วนงาน ทั้งระบบ Core bank และการพัฒนาฐานข้อมูลกลางของธนาคารให้มีความถูกต้อง ปลอดภัย และมีความเป็นปัจจุบัน (Real-time) พร้อมการต่อยอดด้วย AI ที่จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลธนาคารที่มีจำนวนมาก

นอกจากนี้ ธนาคารยังดำเนินการนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในหลายส่วนงานสำคัญของธนาคาร อาทิ การอนุมัติสินเชื่อ การติดตามหนี้ การตรวจสอบความเสี่ยงด้าน Fraud การเพิ่มผลิตภาพของพนักงาน และการพัฒนาความเข้าใจลูกค้าอันนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเฉพาะตัวบุคคล (Hyper-Personalization) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการนำ AI มาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนธนาคารจะช่วยตอบโจทย์ทั้งในด้านการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงาน ไปจนถึงการสร้างโอกาสในการหารายได้ใหม่เพิ่มเติม

ธนาคารไทยพาณิชย์ - กรุงเทพ ครองแชมป์ Bank of the Year 2025

ธนาคารกรุงเทพ สร้างผลงานเด่น คว้าตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2568

ปีนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2568 Bank of the Year 2025 โดยโชว์ผลประกอบการในปี 2567 ที่มีกำไรสุทธิ 45,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,575.63 ล้านบาท หรือ 8.59% สูงเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ และมีกำไรสุทธิต่อหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 23.69 บาท จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 2.3% จากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ และมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี

นอกจากนี้ ธนาคารยังยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 334.3% ขณะที่ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น 20.35% แบ่งเป็น เงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่16.96% และเงินกองทุนขั้นที่ 2 ที่ 3.39%

สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารกรุงเทพ ในปี 2568  ประกอบด้วย

1. การเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) ธนาคารมุ่งสร้างความเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดและขยายธุรกิจอย่างรอบคอบระมัดระวัง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนลูกค้าที่แสวงหาโอกาสใหม่ๆ หรือต้องการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียที่ธนาคารกรุงเทพมีสาขา หรือธนาคารในเครือ ซึ่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) Bangkok Bank Berhad ในมาเลเซีย และธนาคารเพอร์มาตา ในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน รวมถึงเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Sustainable Banking และ Responsible Lending

2. พันธมิตรด้านแพลตฟอร์ม (Platform Partner) ธนาคารสนับสนุนการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ และเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างทันสถานการณ์ เป็นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่

3. ความมั่งคั่งและมั่นคงทางการเงิน (Wealth and Wellness) ธนาคารนำเสนอบริการที่ช่วยให้ลูกค้าขยายผลต่อยอดความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อความมั่นคงทางการเงินสำหรับครอบครัวในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้น และสอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ โดยธนาคารมีผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่การออม การสร้างหลักประกันทางการเงิน ไปจนถึงการลงทุนเพื่อสะสม Wealth ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้นไปเป็นลำดับ

4. องค์กรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data-driven Organization) ธนาคารมุ่งเสริมสร้างศักยภาพด้านข้อมูล โดยการพัฒนาระบบ Data Lake อย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ธนาคารเข้าใจความต้องการของลูกค้า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ในแต่ละช่วงชีวิตได้อย่างถูกต้อง และทำให้ธนาคารเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของลูกค้า พร้อมทั้งปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูลของลูกค้า

5. การเสริมสร้างรากฐานองค์กร (Strengthened Foundation) ธนาคารมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ทักษะและความสามารถที่เพียงพอและเท่าทันสำหรับยุคแห่ง Disruption ของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการทำงานที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน รวมทั้งนำเสนอบริการดิจิทัลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตออนไลน์ของลูกค้า ซึ่งจะทำให้บุคลากรของธนาคารเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำและให้บริการที่มีมูลค่าที่สูงขึ้น
 

logoline
News Hub