หลังจากครม.ลั่นฆ้องเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมามีข้อสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต Nation STORY ได้รวบรวมข้อมูลหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่าสุดมีรายละเอียดดังนี้
วัตถุประสงค์โครงการ
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้
รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
ความจำเป็นของโครงการ
ในปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ 2.7 % ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประมาณไว้ โดยเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบจีดีพีในไตรมาสที่ 4/66 กับไตรมาสที่ 3/66 ที่ขจัดผลของฤดูกาลแล้ว (Seasonally Adjusted) พบว่าจีดีพีไตรมาสที่ 4/66 หดตัว 0.6%
นอกจากนี้ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โตต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 69%
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยังต้องมีความระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
เงื่อนไขการใช้จ่ายเป็นอย่างไร
- ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
โดยรายละเอียดกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้กำหนดว่าร้านค้าขนาดเล็กหมายถึงร้านใดบ้าง และประชาชนมือที่ 1 มีกรอบเวลาการใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทภายใน 6 เดือน เพื่อให้จบในโครงการ ขณะที่ร้านค้ามือที่ 1 ที่ขายของให้ประชาชนที่นำเงินดิจิทัลไปใช้
ร้านค้ากลุ่มนี้เป็นร้านอะไรก็ได้ แม้กระทั่งหาบเร่ แผงลอย ก็สามารถลงทะเบียนใช้สิทธิ์เป็นร้านค้าได้ แต่เมื่อขายของแล้ว ได้เงินดิจิทัลมาแล้ว ยังไม่สามารถนำไปขึ้นเป็นเงินได้ โดยจะต้องนำไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 ซึ่งร้านค้าที่ขายให้ประชาชนมือ 1 ที่ผ่านมาแล้ว จะนำไปซื้อของต่อที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเขตอำเภอสามารถซื้อข้ามเขตจังหวัดได้ และผู้ที่จะขึ้นเงินได้จะต้องเป็นเงินดิจิทัลที่ผ่านการใช้ 2 รอบมาแล้วเป็นขั้นต่ำ
ประเภทสินค้าเข้าร่วมโครงการมีอะไรบ้าง
- สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ
คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
แหล่งเงินที่ใช้โครงการ 500,000 ล้านบาทมาจาก 3 แนวทางคือ
- เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท
- การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท - การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท
ระยะเวลาการดำเนินโครงการ
- แนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 67 และ 68 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 69
แนวทางการป้องกันการทุจริตวางไว้อย่างไรบ้าง
มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ