svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

อัปเดตเงื่อนไข "ดิจิทัลวอลเล็ต" หลังครม.ไฟเขียวมีอะไรบ้าง

25 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Nation STORY อัปเดตดิจิทัลวอลเล็ต หลัง ครม.ไฟเขียวเดินหน้าโครงการ จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างไร และประชาชนมีความต้องการใช้จ่ายซื้อสินค้าอะไรบ้าง ฐานบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทที่ได้เข้าร่วมโครงการมีกี่ล้านบัญชี ตามไปดูกันเลย

ผ่านฉลุยเป็นที่เรียบร้อย สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังจากที่ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เห็นชอบในหลักการตามมติคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดย Nation STORY  ได้รวบรวมข้อมูลสรุปรายละเอียดดังนี้

วัตถุประสงค์โครงการ

-  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุน เวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้

รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

อัปเดตเงื่อนไข \"ดิจิทัลวอลเล็ต\" หลังครม.ไฟเขียวมีอะไรบ้าง

ความจำเป็นของโครงการ

ในปี 2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ระดับ  2.7 % ต่อปี   ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประมาณไว้ โดยเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบจีดีพีในไตรมาสที่ 4/66 กับไตรมาสที่ 3/66 ที่ขจัดผลของฤดูกาลแล้ว (Seasonally Adjusted) พบว่าจีดีพีไตรมาสที่ 4/66 หดตัว 0.6%

 นอกจากนี้ ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โตต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 69%

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ยังต้องมีความระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

กลุ่มเป้าหมายมีใครบ้าง

-  ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี

- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี

- มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่ายเป็นอย่างไร

-  ระหว่างประชาชนกับร้านค้า  ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า โดยประชาชน  มีกรอบเวลาการใช้จ่ายเงิน​ 10,000 บาทภายใน 6 เดือน​ เพื่อให้จบในโครงการ​

ประเภทสินค้าเข้าร่วมโครงการ 

-  สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้

สินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List)  

-  สลากกินแบ่งรัฐบาล

- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

- ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม

- บัตรกำนัล บัตรเงินสด

- ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี

- น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้

-  ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)

- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

การจัดทำระบบเป็นอย่างไร

- พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย

แหล่งเงินที่ใช้โครงการ  500,000 ล้านบาทมาจาก 3 แนวทางคือ

-  เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท

-  การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท

-  การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท

ระยะเวลาการดำเนินโครงการ

-  แนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ  67 และ 68 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 69

แนวทางการป้องกันการทุจริตวางไว้อย่างไร

- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมครม. ได้มอบหมายให้

1.กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ (Negative List) เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ

2.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม และอื่น ๆ

3. คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ  รับผิดชอบการตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ

ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายฯ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ ที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการต่าง ๆ ตามที่ครม. ได้ให้ความเห็นชอบ และสอดคล้องกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย

โดยประสานการดำเนินงานของหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมี นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รมช. เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเลขานุการร่วม

พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ และให้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดโครงการฯ การลงทะเบียนโครงการฯ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งจะเริ่มเปิดให้มีการลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3/67​ และจะเริ่มใช้ได้ในไตรมาสที่ 4/67

หากส่องบัญชีเงินฝากของประชาชนที่เข้าข่ายเกณฑ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000 บาทมีรายละเอียดดังนี้

- ฝากไม่เกิน 50,000 บาท  มีจำนวน 115.11 ล้านบัญชี  ยอดรวมเงินฝาก 457,628 ล้านบาท

- เกินกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวน  4.30     ล้านบัญชี  ยอดรวมเงินฝาก 304,510  ล้านบาท

- เกินกว่า 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท มีจำนวน 3.46  ล้านบัญชี  ยอดรวมเงินฝาก 480,238  ล้านบาท

 - เกินกว่า 200,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท  มีจำนวน 3.23 ล้านบัญชี  ยอดรวมเงินฝาก 1,024,849  ล้านบาท

ส่วนการใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องการนำเงินไปทำอะไรบ้างนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. เม็ดเงินโดยส่วนใหญ่จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะหมุนเข้าระบบภายใน 6 เดือน แม้ว่าก่อนหน้านี้ ภาครัฐจะกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายมากกว่า 6 เดือนก็ตาม โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาทครบภายใน 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) หรือกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการในเดือน เม.ย. 2570 (ตามเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ทางการประกาศเมื่อเดือน พ.ย. 2566)

ทั้งนี้จากการเปิดเผยของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 67 ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินของโครงการ ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนเร็วอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายให้สั้น เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิใช้จ่ายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ

2. กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าจะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลง หากได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิฯ ที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว บางส่วนนำเงินที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการให้ญาติใช้จ่าย นำไปลงทุนธุรกิจต่อ

ทั้งนี้หากรวมเงินที่เข้าสู่ระบบฯ ข้างต้น จะพบว่า ราว 30% ของผู้มีสิทธิฯ ทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 4-7 หมื่นบาท), ปานกลาง (1.5-4 หมื่นบาท), น้อย (< 1.5 หมื่นบาท) มีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย

นอกจากนี้ผู้มีสิทธิฯ โดยส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง และนำเงินที่ลดลงดังกล่าวไปเก็บออม ชำระคืนเงินกู้ (คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของผู้มีสิทธิที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว) ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของผู้มีสิทธิฯ หรือทำให้ผู้มีสิทธิฯ มีเงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็นมากขึ้น

3. Grocery เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการฯ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด

ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหารเป็นสินค้ารองลงมาที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการฯ ยกเว้นในกลุ่มผู้มีสิทธิที่เป็น Gen Z มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อแต่ง ซ่อมบ้านเพิ่มเติมด้วย

กลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และมือถือ คาดว่าได้รับอานิสงส์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบ้าง จากกลุ่มผู้มีสิทธิฯ ราว 10-17% ที่เลือกใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนติด Top 3 โดยกลุ่มผู้มีสิทธิฯ เหล่านั้นเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ลดการใช้จ่าย เพิ่มการใช้จ่ายเงินส่วนตัว ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิฯ กลุ่ม Gen Y และ Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท

4. ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7-11 ราว 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและร้านขายยาเป็นกลุ่มรองที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการฯ ด้วย ส่วนร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตร คาดว่าจะได้รับผลบวกอยู่บ้าง โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายในร้านค้าเหล่านี้เป็นอันดับที่ 5 โดยผู้มีสิทธิฯ ที่รายได้สูงหรืออยู่ในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่จะนำไปใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์ยานยนต์ ขณะที่ผู้มีสิทธิฯ อยู่ต่างจังหวัด รายได้น้อยจะเลือกใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์การเกษตร

อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เกต เป็นต้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิในโครงการฯ แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิฯ มาใช้จ่ายต่อไปยังร้านค้าอื่น ๆ เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต๊อกสินค้าในร้านค้า เป็นต้น

5.การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการฯ ในร้านค้าตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิฯ อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินโครงการฯ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่ามีสิทธิในโครงการฯ มองว่า การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการฯ เป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายเงินของโครงการฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ

ซึ่งสัดส่วน 70% ของกลุ่มเหล่านั้น มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยปัญหาหลักของการใช้จ่าย มาจากการไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด

ถึงแม้ว่าจะผ่านครม.ไปแล้ว แต่ใช่ว่าเส้นทางสายดิจิทัลวอลเล็ตจะโรยด้วยกลีบกุหลาบไปหมด เพราะยังต้องรอความชัดเจนรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ  ซุปเปอร์แอปที่นำมาใช้มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

รวมถึงประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ที่ต้องส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้แน่นอนก่อน 

ที่สำคัญอย่าลืมว่าเงินที่ใช้ในโครงการ จะทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็มาจากภาษีประชาชน ทุกอย่างจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ไม่ใช่หวังตำน้ำพริกแลกคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว…..

logoline