นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2568 จาก 2.9% เหลือ 1.8% โดยมีสมมติฐานจากการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ โดยไทยยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงต่ำกว่าระดับ 2% ส่วนในปี 2569 จะลดลงอีกเหลือ 1.6%
มองว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าลดเท่าไร แต่ไม่น่าถึงขนาดนั้น เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่แน่นอน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งนี้ ยอมรับว่านโยบายภาษีของทรัมป์อาจมีผลกระทบบ้าง ซึ่งรัฐบาลมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมออกมาตรการมาดูแลกระตุ้นเศรษฐกิจ ชดเชยส่วนจีดีพีที่จะลดลงไป เพื่อรักษาให้เติบโตได้ในระดับเดิมได้
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท โดยจะโฟกัสเม็ดเงินดังกล่าวไปที่เรื่องในประเทศ ทั้งการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในประเทศ ตลอดจนซอฟต์โลน
ส่วนที่มาของแหล่งเงินจะต้องดูเพราะมีหลายทาง โดยขณะนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาพัฒน์รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด ส่วนจะมีผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ไม่อยากให้มองเรื่องหนี้ เพราะหลายประเทศก็มีหนี้สูงกว่า แต่สิ่งสำคัญคือ หากมีการใช้เงินมาก จะนำมาใช้ทำอะไรซึ่งถ้าสามารถทำให้ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวได้กว่าเดิมก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีปรับลดลงได้
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันฐานะการคลังไทยยังเข้มแข็งส่วนที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่กว่า 500,000 ล้านบาท ปีนี้นั้น ก็ต้องดูว่าจะเข้ามาทำในส่วนไหน ซึ่งมองว่าเรื่องการกระตุ้นการบริโภคก็จะเกิดผลได้ไว แต่เรื่องการลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง
สำหรับแหล่งเงินที่มาตอนนี้ยังไม่สรุปว่าจะเป็นการกู้หรือไม่เพราะสามารถทำได้จากหลายวิธีทั้งการเกลี่ยงบประมาณ รวมถึงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ที่มีเหลืออยู่ก็ต้องดู ตลอดจนสามารถนำเงินสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อเพื่อเติมเงินเข้าเศรษฐกิจได้อีกทาง ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรอดูการสรุปโครงการซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเดือนหน้า ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่
ส่วนการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 75-80% นั้นมองว่าเรื่องเพดานหนี้ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะหลายประเทศก็มีหนี้สูงถึง 80% หรือ 100% ก็ยังทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การกู้เงินมาจะมาทำอะไร รวมถึงดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้คืนด้วย หากรัฐบาลเลือกกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท จะกระทบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่ม 3% เศษ โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 64.21%