svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เงินบาทเปิดเช้านี้ 'แข็งค่าขึ้นมาก' 34.17 บาท/ดอลลาร์

10 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.17 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากปิดที่ 34.58 บาท/ดอลลาร์ หลัง 'ทรัมป์' ระงับเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ 90 วัน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.94-34.69 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง 

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายลงบ้าง หลังล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เป็นเวลา 90 วัน กับบรรดาประเทศต่างๆ ยกเว้นจีน ที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเป็น 125% เพื่อตอบโต้มาตรการทางการค้าล่าสุดของทางการจีน 

ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) กดดันการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ ที่กลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ทยอยอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน 
 

เงินบาทเปิดเช้านี้ \'แข็งค่าขึ้นมาก\' 34.17 บาท/ดอลลาร์

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับบรรดาประเทศต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน (ทว่าสินค้าจากจีนจะเผชิญภาษีนำเข้าในอัตราใหม่ที่สูงขึ้นเป็น 125%) ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างรีบาวด์ขึ้นแรง อาทิ Tesla +22.7%, Nvidia +18.7%  ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +9.52%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงกว่า -3.50% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ทว่า ภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) บรรดาผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น สะท้อนจาก สัญญาฟิวเจอร์สตลาดหุ้นยุโรปล่าสุด อาทิ สัญญาฟิวเจอร์สดัชนี STOXX50 ที่พุ่งขึ้นกว่า +8.8% 

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน (ยกเว้นกับจีน) ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกชะลอลง จากแรงซื้อของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 4.28% 
 

เงินบาทเปิดเช้านี้ \'แข็งค่าขึ้นมาก\' 34.17 บาท/ดอลลาร์

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลง และการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ลงบ้าง ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 102.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.8-103.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) สามารถแกว่งตัวแถวโซน 3,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง ในปีนี้ (ลดลงจากที่เคยมองว่า เฟดอาจต้องลดดอกเบี้ย 4-5 ครั้ง ในปีนี้)

ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ความกังวลผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 5.50% 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน หลังทางการสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเป็น 125%  
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงคืนที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญ คือ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ทว่า เรามองว่า ราคาทองคำก็อาจยังไม่ได้มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้นไปมากนัก ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดในช่วงนี้ อีกทั้ง ราคาทองคำก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม กอปรกับ ในช่วงตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง เรามองว่า ความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงสหรัฐฯ และจังหวะการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจพอช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ทำให้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ แต่หากเงินบาท (USDTHB) กลับมาแข็งค่าขึ้นหลุดโซน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ชัดเจน เงินบาทก็อาจกลับเข้าสู่ช่วง Sideways หรือมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following 
 

logoline
News Hub