นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศต่อการกำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของธธ์สหรัฐฯ ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ในมิติต่างๆ
นายวุฒิไกร กล่าวว่า หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการทางภาษีต่อประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และกระตุ้นการลงทุนในประเทศ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้เตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม
โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์) และ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายศุภวุฒิ สายเชื้อ) ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดพร้อมหารือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน
นายวุฒิไกร เสริมว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า หลายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ได้ยื่นข้อเสนอการเจรจา รวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ยังมิได้ให้การตอบรับ และทุกประเทศทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่มีสูงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
นายวุฒิไกร ได้ยืนยันว่า คณะทำงานฯ มีความพร้อมในการหารือกับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเน้นแนวทางที่สมดุลและเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเกษตรกรไทยตลอดจนรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการประกาศ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะทำงานฯ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนและภาคธุรกิจว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐฯ บนพื้นฐานการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด
สำหรับคณะทำงานได้เตรียมประชุมและทำแผนการเจรจาเชิงรุกร่วมภาครัฐกับภาคเอกชนไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐได้ประกาศใช้มาตราการด้านภาษี 4 รูป ประกอบด้วย 1.มาตราการขึ้นภาษีรายประเทศที่ก่อปัญหาเช่น ด้านยาเสพติด การอพยพเข้าเมือง 2.มาตราการขึ้นภาษีเป็นรายสินค้า 3. ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายและ4. ขึ้นภาษีตอบโต้รายประเทศ
ทั้งนี้การที่สหรัฐขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทยเนื่องจากสหรัฐมีสัดส่วนการค้าการโลก 20 % และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยแต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยจาการที่สหรัฐขึ้นภาษีในรอบแรกไทยได้รับผลกระทบไปแล้ว คือ สินค้ากลุ่มเหล็กและอลูเนียม ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มี.ค. โดยเหล็กขึ้นจากภาษี 0 -12.5 % เป็น 25 % อลูมิเนียมจาก 0-6.25. % เป็น 25 % ซึ่งไทยได้รับผลกระทบแต่มีการเก็บภาษีคู่แข่งในทุกประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังส่งได้ตามปกติแต่ชะลอลง เนื่องจากเป็นสินค้าสหรัฐจำเป็นต้องนำเข้า ส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากเดิม 0-4.9 % เป็น 25 % ซึ่งจะมีผล 3 เม.ย.
อย่างไรก็ตามคาดว่าสหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีไทย 2-3 รายการประกอบด้วย สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ยา ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า นอกจากนี้ไทยยังมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีตอบโต้โดยสหรัฐอาจจะมีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าให้เท่าที่ไทยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ปัจจุบันพบว่า ไทยมีการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐในสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร ในอัตราสูงกว่าสหรัฐ 11 % ซึ่งหากสหรัฐการเพิ่มภาษีให้เท่ากับไทยเก็บคาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบเช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์