นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดนครพนม ร่วมกับนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม วันนี้ (6 มกราคม 2568) ว่า การลงพื้นที่จังหวัดนครพนมในครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่ – นครพนม และโครงการก่อสร้างถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน - ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 – ถนนเชื่อมทางหลวงหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งจังหวัดนครพนมไม่ได้เป็นเพียงประตูสู่การค้าชายแดน แต่ยังเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ในภาพรวมโดยยืนยันว่า จะเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่ – นครพนม ระยะทาง 354 กิโลเมตร (กม.) แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านไผ่ - หนองพอก ระยะทาง 177.50 กม. สัญญาที่ 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 177.28 กม. รวมถึงการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) และทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) เพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร
โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟ สะพาน และคันทางรถไฟในหลายพื้นที่ โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย การก่อสร้างสถานีรถไฟ 18 สถานี ป้ายหยุดรถไฟ 12 แห่ง และลานกองเก็บสินค้า (Container Yard) 3 แห่ง (สถานีร้อยเอ็ด สถานีสะพานมิตรภาพ 2 และสถานีสะพานมิตรภาพ 3) ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง (สถานีภูเหล็ก สถานีมหาสารคาม และสถานีโพนทอง) คาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการ ในปี 2571 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ รฟท. รายงานเหตุผลของการล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้รับเหมาอ้างเหตุผลดังกล่าวในการขอผ่อนผันหรือลดค่าปรับ อีกทั้งได้มอบหมายให้มีการปรับแผนงานก่อสร้างให้มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกำหนดมาตรการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ"
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการก่อสร้างถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน - ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 – ถนนเชื่อมทางหลวงหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เกิดขึ้นจากความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายคมนาคมขนส่งและการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินนครพนมกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 มีความยาวรวม 13 กม.
ทั้งนี้ มีการออกแบบให้รองรับการเดินทางของทั้งรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่และรถยนต์ส่วนบุคคล ประกอบด้วยสะพานข้ามทางแยก จุดเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 212 และพื้นที่พักรถบริเวณใกล้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 520,187,894.23 บาท จากงบประมาณทั้งหมด 949,000,000 บาท หรือคิดเป็น 54.81% (ณ เดือนธันวาคม 2567) ซึ่งได้กำชับให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ควบคุมการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2569
อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ จะสร้างประโยชน์สำคัญต่อประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกในระยะยาว ทั้งการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมจากภาคอีสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ดึงดูดนักลงทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมการเดินทางและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น สนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครพนมและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างยั่งยืน
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่จังหวัดนครพนมในวันนี้ ยังได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดนครพนมและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสมบูรณ์ เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ด้วย
สำหรับจังหวัดนครพนมมีความโดดเด่นในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภาคอีสาน เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าและการค้าชายแดนเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เวียดนามและจีนตอนใต้ ผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า รองรับการเติบโตของการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกัน จังหวัดนครพนมยังมีสนามบินที่สามารถรองรับการขยายตัวของการเดินทางและโลจิสติกส์ในอนาคต อีกทั้ง ยังได้รับการกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร และการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นจุดแข็งของภาคอีสาน อีกทั้งยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่