งานสัมมนา Greenovative Forum จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องโดยบางจากฯ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองใหม่ ๆ ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านพลังงาน เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบางจากฯ ในการเชิญชวนให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการผลักดัน ผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI, Energy and Environment” ว่า การนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่าง ๆ แต่กระบวนการพัฒนาและใช้งาน AI ต้องการพลังงานมหาศาลเช่นกัน ส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors : SMR ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี หลังจากนี้ ทั่วโลกจะบริหารพลังงานอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบ เช่น พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เมื่อมีหมอกควันโซลาร์ทำงานได้แค่ 30-40% รวมถึงการคำนวณพลังงานลมก็เช่นกัน จึงต้องใช้ AI เข้าช่วย รวมถึงระบบการขนส่งที่ลดต้นทุน เพราะแหล่งผลิตกับแหล่งใช้จะคนละแหล่งกัน เหมือนน้ำมันที่ผลิตก็ไม่อยู่ในมหานคร แต่การใช้กลับเป็นในมหานครนิวยอร์กเยอะ จึงมี 2 ทางเลือกคือหาแหล่งผลิตเพิ่มเติมที่รับกับระบบสายส่ง
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า วิวัฒนาการมนุษย์โลกได้พัฒนาการสื่อสารจากการบันทึกเพื่อเก็บข้อมูลเป็น 100 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ชิ้นแรกจะเป็นกระดานชนวนและเริ่มบันทึกลงสมุุดโดยการเขียน หากวัดประสิทธิภาพการทำงานถือเป็นวิวัฒนาการต่าง ๆ ในการทำงานจนมาถึงยุคสมัครงาน 40-50 ปีที่ผ่านมา จะมีช่องให้กรอบความสามารถในการพิมพ์ดีดจนมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ทำให้การทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่การพัฒนาจาก 15-16 ปีที่ผ่านมาและก้าวมาสู่ iPhone16 การทำงานแทนที่จะอยู่บน desktop วันนี้สามารถทำ PowerPoint บนมือถือได้และดีขึ้นจนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนอีกครั้งของโลกคือ ยุคของ AI ทำให้มนุษย์มี Productivity มากยิ่งขึ้นช่วยย่นเวลา ได้ชิ้นงานมากขึ้นจากเวลาเท่าเดิม และช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์จากการใช้ Generative AI ช่วยให้การทำงานต่อวันเพิ่มมากขึ้น เพราะทำได้ทุกที่และตลอดเวลา ช่วยสรุปประเด็นได้เพียงเสี้ยววินาที
ทั้งนี้ สิ่งที่ตามมาคือการใช้พลังงานที่มากขึ้นระดับ 6-15 เท่า เช่น จากการประมวล AI และใช้พลังงานรวม ๆ กันประมาณ 300 – 1,000 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าจะพุ่งไปถึง 5 กิกะวัตต์ เทียบเท่ากับพลังงานที่โรงงานน้ำมันบางจากจำนวน 100 โรงงาน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ โลกจะต้องหาแหล่งพลังงานอะไรมารองรับปริมาณใช้งาน AI และในตอนนี้ทั่วโลกก็ต่างกำลังหันกลับไปมองพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยก็ควรศึกษาเช่นเดียวกัน
“ถ้าทุกคนทั้งโลกราว 8,000 ล้านคน จะใช้ไฟมหาศาล และจะเอาแหล่งพลังงานมาจากไหน ทั้ง Google Microsoft และ Amazon ประกาศที่จะซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เงินมากกว่าแผนถึง 3 เท่า และใช้เวลานาน อีกทั้งเรื่องของการบริหารความปลอดภัย และเรื่องใหญ่ที่สุดคือเวลาในการผลิตพลังงาน 30-40 ปี แต่รังสีที่ยังอยู่นานถึง 1 แสนปี”
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้วการใช้ดาต้าในปริมาณที่สูง ซึ่งทุกประเทศขณะนี้จะพบกับปัญหาเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้แต่ประเทศสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีความเสถียรมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาพลังงานนิวเคลียร์จะมีปัญหาแต่ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น กลุ่มบางจากฯ โดย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจเช่นกัน
“จุดไหนมีดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดมากๆ และเปิดกว้าง กลุ่มบางจากฯ ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งตอนนี้ก็ได้ศึกษาอยู่ตามแผนต่างๆ ทั้งความเป็นไปได้ที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรและเข้าลงทุนเอง" นายชัยวัฒน์ กล่าว
ดังนั้นดีมานด์ความต้องการสำคัญ รวมถึงขณะนี้เทคโนโลยี AI เองมีการใช้งานมากขึ้น และกลุ่มนี้จะมีการใช้พลังงานสะอาดในปริมาณมาก รวมไปถึงดาต้าเซนเตอร์ที่มีการใช้พลังงานสูงกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ปกติหลายเท่า
ส่วนการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการอยู่ร่วมกันกับ AI อย่างยั่งยืนว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาดทั่วโลกจะต้องใช้เวลา ซึ่งนอกจากนี้การใช้พลังงานของคนทั่วไปล้วนอิงจากพฤติกรรมชีวิตประจำวัน หากลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้พลังงานก็น้อยลงตามด้วย นอกจากนี้ การใช้งาน AI ควรใช้งานที่พึงประสงค์เท่านั้น เพราะ AI ยังเป็นสิ่งที่ใช้พลังงานมาก
“การใช้ AI ในองค์กรบางจากมองว่า AI เป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เรามองเป็นเครื่องมือช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นหรือเพิ่ม Productivity ให้สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากกว่าหลักร้อยหลักพันเท่า ดังนั้น ต้องสร้างสมดุล เรามองว่าจำเป็นที่จะต้องใช้และใช้ให้เหมาะสม สู่เป้าหมาย Net Zero”