นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยการเยือนครั้งนี้ บีโอไอได้ผนึกกำลังกับองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (CCPIT), Bank of China และสมาคมส่งเสริม Belt and Road จัดงานสัมมนาใหญ่ “Thailand – China Investment Forum 2024” ณ โรงแรม Shanghai Marriott Marquis มหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุน ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของจีนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 600 ราย นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แสดงถึงการให้ความสำคัญและความสนใจอย่างมากของนักลงทุนจีนที่มีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจีนที่ต้องการกระจายฐานการผลิตออกสู่ตลาดโลก ในจังหวะเวลาที่ยังมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันการค้ารอบใหม่ของสหรัฐอเมริกา
ในงานสัมมนาใหญ่ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการเตรียมการเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งด้านพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด น้ำ การเตรียมพร้อมด้านบุคลากร และการอำนวยความสะดวกของภาครัฐ เพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งโอกาสความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนและมหานครเซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะด้าน Digital Economy และ Green Economy
ในขณะที่เลขาธิการบีโอไอ ได้นำเสนอสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 5 สาขาสำคัญ ที่จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารบริษัทชั้นนำของจีนร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ Bank of China, บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ และบริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics อีกทั้งบีโอไอยังได้ร่วมมือกับกลุ่มธนาคารไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม WHA, โรจนะ, 304, TRA, TFD และเอส มาร่วมออกบูธให้ข้อมูล เพื่อสนับสนุนนักลงทุนจีนให้สามารถเข้าถึงที่ดิน สินเชื่อและบริการทางการเงิน และเครือข่ายทางธุรกิจที่จะช่วยเร่งให้เกิดการลงทุนจริงได้อย่างครบวงจร
นอกจากงานสัมมนาแล้ว รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการบีโอไอ ยังได้หารือและเจรจาแผนการลงทุนเป็นรายบริษัทกับนักลงทุนเป้าหมายรายใหญ่ จำนวน 6 บริษัท ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเตรียมแผนการลงทุนในประเทศไทย คาดว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกันกว่า 90,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
- อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต้นน้ำระดับเซลล์ 2 ราย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่เป็นหัวใจของการผลิตแบตเตอรี่ ให้ความสนใจลงทุนในไทยเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน และอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 3 ราย ทั้งการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงที่ใช้ในระบบโทรคมนาคม และ Data Center, การวิจัย ออกแบบและผลิตชิป กลุ่มนี้สนใจลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมขั้นสูงจำนวนมาก รวมถึงช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและขีดความสามารถในการพัฒนา AI ของไทย
- อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ 1 ราย เป็นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก สำหรับใช้บรรจุอาหารและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของไทย
นอกจากนี้ คณะยังได้หารือกับผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานและแบตเตอรี่จีน เกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศของการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว เช่น ระบบการติดตามแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นทาง (Tracking System) ระบบการซ่อมและรวบรวมแบตเตอรี่ใช้แล้ว การนำกลับมาใช้ใหม่ (Repack / Reuse) เทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ รวมถึงการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแล และการจัดหาพื้นที่สำหรับธุรกิจนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถวางแผนเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผลสำเร็จจากการเยือนจีนในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงกระแสความสนใจในการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจจีน ซึ่งบริษัทจำนวนมากมีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมทั้งมีการตัดสินใจและการเริ่มต้นธุรกิจอย่างรวดเร็ว การนำทีมโรดโชว์โดยท่านรองนายกฯ พิชัย ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลไทยพร้อมต้อนรับและสนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพจากจีน รวมทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะสำคัญในการดึงการลงทุนขนาดใหญ่จากบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีในระดับที่สามารถทำให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยครั้งใหญ่ได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอีกหลายอุตสาหกรรม” นายนฤตม์ กล่าว