นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับ 20 หน่วยงาน ว่า “หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพมาตรฐานและธุรกิจจากต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย 5 มาตรการหลัก (63 แผนปฏิบัติการ) ซี่งประกอบด้วยมาตรการในส่วนของการป้องกัน/กำกับดูแลสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและธุรกิจผิดกฎหมาย และมาตรการส่งเสริมพัฒนาต่อยอด SMEs ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยในการติดตามผลและประเมินความคืบหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2567
ที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานของแผนงานต่าง ๆ โดยทั้งหมดจะแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้เห็นผลภายในระยะเวลา 3 เดือน 2) ระยะกลาง เพื่อสร้างความคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทย 3) ระยะยาว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน และขยายตลาดสินค้า สร้างความยั่งยืนให้กับ SMEs ไทย พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพ และการประกอบธุรกิจ โดยคาดว่ามีระยะเวลาดำเนินการเกิน 1 ปี
สำหรับด้านการป้องกัน/กำกับดูแลได้มีการวางแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม จากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายทำให้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาถูกเข้ามาแข่งขันในประเทศจำนวนมาก โดยที่ประชุมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการด้านกฎหมายอย่างเคร่งครัด เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที รวมทั้งออกมาตรการเพิ่มเติมให้รองรับกับสภาพปัญหาและรูปแบบการค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ส่วนเรื่องการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด มีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มสัดส่วน SMEs ต่อ GDP จาก 35.2% ในปี 2566 เป็น 40% ภายในปี 2570 ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ในคณะอนุกรรมการฯ ได้วางแผนจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ งานแสดงสินค้า งานมหกรรมต่าง ๆ การสนับสนุนทุนและเครื่องมือในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SME ตลอดจนผลักดันผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการออกนิทรรศการในต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว
การประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาสินค้าไร้คุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและ SMEs ของไทยเป็นอย่างมาก และคาดหวังว่าการวางกรอบการดำเนินงานจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันโดยลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าราคาถูกและคุณภาพต่ำ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำตลาดของผู้ประกอบการไทย อีกทั้งการควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ช่วยให้สินค้าจาก SMEs ไทยได้รับความไว้วางใจและมีโอกาสในการขยายตลาดในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งในประเทศและขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ SMEs ไทยในระยะยาว” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย