svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"กอบศักดิ์" แนะจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง สะเทือนเศรษฐกิจโลก - ไทย

ดร.กอบศักดิ์ มองเศรษฐกิจไทยพ้นดงหนาม คาดปีหน้า 68 จีดีพีโตเกิน 3% อานิสงส์ 4 เครื่องยนต์ขับเคลื่อน แนะจับตา “3 หลุมระเบิด” กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก “ผลเลือกตั้งสหรัฐ - เศรษฐกิจจีน - หนี้ครัวเรือน” ด้านสินเชื่อแบงก์คาดโต 3-4% ต่างประเทศโตดี สัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศแตะ 25%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย ถือว่าอยู่ในทิศทางที่สบายใจมากขึ้น คาดการณ์ปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3% เล็กน้อย เพราะปลายปีมีผลกระทบจากน้ำท่วมบางพื้นที่ แต่หลังจากนั้น หรือหากมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยถือว่า “พ้นดงหนาม” และน่าจะไปข้างหน้าในระดับที่ดีต่อเนื่อง คาดว่าปี 2568 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้เกิน 3%

โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาราว 4 ล้านคนต่อเนื่อง น่าจะทำให้ทั้งปีนักท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่ระดับ 36 ล้านคนบวกลบ ซึ่งถือเป็นระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ขณะที่ หากดูการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หรือ FDI ที่เข้ามาไทยต่อเนื่อง เหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่อ 

\"กอบศักดิ์\" แนะจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง สะเทือนเศรษฐกิจโลก - ไทย

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ในทิศทางที่ดี แต่ยังมี “หลุมระเบิด” ที่น่ากังวลใจ 3 เรื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่น่ากังวล คือ 1.การเลือกตั้งสหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.67 นี้ ตัวชี้วัดทิศทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ใครจะชนะการเลือกตั้งจะทำให้ปัญหาสงคราม สงครามการค้า หรือความรุนแรงเกี่ยวกับสงครามเทคโนโลยี (Tech war) จะมาต่อเนื่องหรือไม่ เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าระยะข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ผ่านการได้ผู้นำสหรัฐคนใหม่

2.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ที่มองว่ายัง “ไม่พ้นน้ำ” เศรษฐกิจจีนมีแต่อ่อนแอลง ตัวเลขหลายเครื่องยนต์น่าห่วง การนำเข้าล่าสุดเติบโตเพียง 0.3% เท่านั้น สะท้อนเศรษฐกิจจีนไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่ราคาบ้านของจีนหดตัว 6-7% ต่อเนื่อง เหล่านี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่พ้นดงหนาม

อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติ ทุก Turning point จะเจอจุดเปลี่ยนได้ หากภาครัฐของจีนบริหารจัดการหนี้เสีย หรือนำหนี้เสียทั้งหมดมาอยู่ภายใต้รัฐ เพื่อนำมาบริหารจัดการ

เช่นเดียวกับไทยปี 2540 ที่เผชิญวิกฤติ และสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ ก็มาจากการที่ภาครัฐเปิดให้มีสภาพคล่องออกมาสู่ระบบ และดูดเอาหนี้เสียเข้าไปสู่ระบบ มาอยู่ภายใต้แบงก์ชาติในปัจจุบัน ทำให้หนี้เสียในระบบถูกบริหารจัดการ เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้น ครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลจีนเช่นเดียวกันว่า จะตัดสินใจอย่างไร ในการบริหารหนี้เสียในอนาคต

“หากดูทิศทางเศรษฐกิจโลกวันนี้เริ่มพ้นน้ำแล้ว วันนี้ทุกธนาคารทั่วโลกเริ่มลดดอกเบี้ย และลดต่อไปเรื่อยๆ หลังจากนี้โลกจะค่อยๆ ดีขึ้น และเจอการฟื้นตัวรอบใหม่ก็จะเกิดขึ้น จะช่วยดึงให้เราขยายตัวได้หลังจากนี้ หรือหากมีรีเซสชั่น หรือเศรษฐกิจถดถอยมองว่า จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะอยู่ในช่วงดอกเบี้ยลง เงินเฟ้อไม่เยอะ หลังจากนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น มีอย่างเดียวที่จะทำให้การฟื้นตัวของโลกมีปัญหา คือ สงครามที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งเสร็จ เหล่านี้เป็นความน่ากังวลใจ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทุกคนต้องใส่ใจมากขึ้น”

3.หนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาน่ากังวล แม้ธนาคารกรุงเทพจะไม่ได้มีในส่วนของหนี้ครัวเรือนมากนัก แต่เหล่านี้ก็เป็นความน่ากังวล เพราะทำให้ระบบไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ จากการมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง 89-90% ในปัจจุบัน อีกทั้ง สินเชื่อรถในระบบปัจจุบัน ที่ยังมีสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ในระดับสูงที่ 16% และสินเชื่อบ้านที่เริ่มเห็นการถูกยึดขายทอดตลาดมากขึ้น เหล่านี้เริ่มเป็นปัญหามากขึ้น เพราะรถ บ้านเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน ของภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจมากขึ้น

หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจาก ช่วงที่เศรษฐกิจโตภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนมีการกู้ค่อนข้างมากช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจดี แต่พอมาถึงระดับหนึ่งที่คนเป็นหนี้มากขึ้น จึงทำให้โอกาสก่อหนี้ หรือการเติบโตโดยอาศัยจากการสร้างหนี้หมดลง และยากขึ้น ทั้งนี้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงสิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ประชาชนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะจากผลกระทบโควิด ที่ทำให้รายได้ของคนหายไปเป็นเวลานานจนกระทบต่อเงินออม ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบในที่สุด

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นหนี้ครัวเรือนทบขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ และเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข และมองปัญหาหนี้ครัวเรือนวันนี้ กำลังเป็นปัญหาคุกคามที่ทำให้เราโตได้ไม่ดีกระตุ้นเท่าไรก็ไม่พอ เพราะกระตุ้นไปคนก็เอาไปจ่ายหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบหมด”

ขณะที่ มองว่าทิศทางดอกเบี้ยโลกที่เริ่มปรับลดลงในบางประเทศ รวมถึงไทยเอง ถือว่าเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ และลูกหนี้ แต่ก็อาจต้องรออีก 6 เดือนหลังจากนี้ หรือกว่า 1 ปี หลังจากนี้ที่จะเริ่มเห็นการส่งผ่านดอกเบี้ยไปสู่ระบบเศรษฐกิจจริง

สำหรับ การคาดการณ์ธนาคารด้านการเติบโตสินเชื่อ ธนาคารมองว่า ภายใต้การคาดการณ์จีดีพีของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดเติบโตต่ำกว่า 3% เล็กน้อย จะเห็นสินเชื่อธนาคารโตกว่า 1 เท่าตัว หากเทียบกับจีดีพี ดังนั้น สินเชื่อธนาคารจะเติบโตอยู่ในกรอบ 3-4% ได้ในปีนี้ โดยหากดูภาพรวมธนาคารถือว่ามีทิศทางเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 9 เดือนที่ธนาคารทำกำไรสุทธิได้อยู่ในระดับที่ดี และไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ที่กำไรสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อโดยรวม ในภาคธุรกิจจะมีการชะลอตัวไปบ้าง แต่ในด้านต่างประเทศ ยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ธนาคารถือเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำในภูมิภาค และเป็นผู้นำด้านตลาดสินเชื่อธุรกิจ ลูกค้าบุคคลที่มีฐานลูกค้าอย่างกว้างขวาง

ดังนั้น แม้สินเชื่อในประเทศเติบโตไม่ได้ดีนัก แต่ด้านต่างประเทศ ยังเห็นสินเชื่อเติบโตสูง โดยเฉพาะสินเชื่อขนาดใหญ่ สินเชื่อคอนซูเมอร์ต่างๆ ที่เติบโตได้ต่อเนื่อง และยังมีความต้องการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศอื่น ที่อยู่ในช่วงของการขยายโรงงาน การลงทุนเพิ่มเติม ที่จะหนุนให้รายได้ต่างประเทศของธนาคารเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะธนาคารเพอร์มาตา ในเครือธนาคารกรุงเทพในประเทศอินโดนีเซีย ที่เห็นการเติบโตมาสู่ธนาคารค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัจจุบัน รายได้จากธุรกิจต่างประเทศของธนาคาร มีสัดส่วนรายได้ราว 25% หากเทียบกับรายได้ของธนาคารในปัจจุบัน ธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเป็นระดับที่เหมาะสม