svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

นักวิชาการชี้ลดดอกเบี้ย เสี่ยงดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

อดีต กนง. ชี้ เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพ คาดเป็นเหตุไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ห่วง สภาพคล่องกระจุกตัวบริษัทใหญ่-ธนาคารพาณิชย์ เม็ดเงินไม่ถึงรายย่อย แนะปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนุนรัฐ ดันเพิ่มทักษะคน-ผู้ประกอบการ ให้เป็นวาระแห่งชาติ

   

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ในฐานะอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนถึงความต้องการให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย ว่า หลักคิดของนโยบายการเงิน คือเรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากใช้มุมมองของรัฐบาลที่พยายามจะฉายภาพว่าเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง การรักษาเสถียรภาพด้วยการลดดอกเบี้ยถือว่าถูกต้อง แต่ต้องถามกลับว่า เศรษฐกิจตกต่ำจริงหรือไม่ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้คาดกันว่าขยายตัวประมาณ 2 .5 - 2.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันยังมีเม็ดเงินจากดิจิทัล วอลเล็ต ล็อตแรกที่เข้ามาในระบบในปีนี้ และอีกงวดในปีหน้า 

นักวิชาการชี้ลดดอกเบี้ย เสี่ยงดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

 “ตัวเลขที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินใช้คือความแตกต่างระหว่าง แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการขยายตัวตามศักยภาพ ที่หมายถึงระดับการขยายตัวที่เป็นไปได้ภายใต้โครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันปัจจุบัน ซึ่งมองไปข้างหน้าความแตกต่างนี้ไม่ชัดเจน หาก กนง. มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวจะใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ประมาณ 2.8-3.0 เปอร์เซ็นต์ แนวทางที่ควรจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราในปัจจุบัน แต่การที่ กนง.บอกว่ายังไม่ลดดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่ารอบหน้าจะไม่ลด เพราะถ้ามีตัวเลขเข้ามาใหม่ว่าเศรษฐกิจซบเซากว่าที่คิดก็มีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยได้” ดร. สมชัยระบุ 
 

ดร. สมชัย ยังกล่าวถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการลดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุจำเป็นว่า ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยต่ำเกินควร ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลและภาคธุรกิจ แต่สําหรับภาพรวมของประเทศไม่ค่อยดี เพราะเมื่อดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ประชาชนก่อหนี้มากขึ้น และเป็นสาเหตุหนึ่ง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด ที่ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มมากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เพราะคนต้องไปจ่ายหนี้ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย

ดร. สมชัย ระบุว่า การลดดอกเบี้ยแต่ละครั้ง ธปท.จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วย แต่สภาพคล่อง และเงินจะไปกองอยู่กับคนรวย บริษัทใหญ่ และธนาคารพาณิย์ โดยที่เงินไม่ได้ไปสู่เอสเอ็มอี เนื่องจากธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยเพราะไม่แน่ใจว่าปล่อยกู้ไปแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่ 

“การลดดอกเบี้ยเพิ่มสภาพคล่องจริง แต่สภาพคล่องที่เพิ่มอาจจะไปไม่ถึงคนที่ต้องการสภาพคล่องอยู่ดี อันนี้จึงเป็นเหตุที่ว่าไม่ว่าธปท.หรือใครก็ตามถึงพยายามเร่งรัดในเรื่องของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างก่อน เพราะว่าถ้าไม่ทำธนาคารพาณิชย์ก็จะไม่ปล่อยกู้อยู่ดีเพราะกลัวหนี้เสีย สุดท้ายรายย่อย ประชาชนก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบอีก” ดร. สมชัยระบุ 

ส่วนการแก้ไขปัญหาจะต้องทำอย่างไรนั้น ดร. สมชัย ระบุว่า ต้องเดินหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ที่ธปท.กำลังทำคลินิกแก้หนี้อยู่ นอกจากนี้อาจจะต้องมีเรื่องของการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญในการปล่อยกู้ให้กับรายย่อย ให้สามารถทําการปล่อยกู้ได้มากขึ้นพร้อม ๆ กับปลอดภัยมากขึ้นด้วย โดยเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ลูกค้าให้ดีขึ้น ใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งหากร่วมมือกันทํา สุดท้ายก็สามารถปล่อยเงินกู้ไปสู่รายย่อยและประชาชนได้ ส่วนทางด้านนโยบายการคลัง จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเพิ่มทักษะทั้ง Upskill และ Reskill คอร์สระยะสั้นให้กับทั้งลูกจ้าง และผู้ประกอบการ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการเพิ่มความสามารถการแข่งขันที่ดีที่สุด 

“ถ้าคนทํางานเก่งขึ้น ประกอบธุรกิจเก่งขึ้น ถึงตอนนั้นสภาพคล่องที่กองอยู่ข้างบนก็จะไหลมาหาเขา เพราะธนาคารพาณิชย์เริ่มกล้าที่จะปล่อยกู้ เพียงแต่รัฐบาลควรจะต้องทําเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งถ้าทำดีๆ และทำทุกพื้นที่ทั่วประเทศต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้ในที่สุด ”ดร. สมชัย ระบุ
 

    News Hub