svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

“มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน

“มนพร” สั่งเจ้าท่า เร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน วงเงิน 740 ล้านบาท ประเดิมสร้างปีนี้ 2 แห่ง “ท่าเรือมาเนาะ - ช่องหลาด” เชื่อมคมนาคมทางน้ำเชื่อม 3 จังหวัด “ภูเก็ต พังงา กระบี่” สะดวก รวดเร็ว ร่นเวลาเดินทาง 1 ชม. ครึ่ง รองรับการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศ

มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในการพัฒนาท่าเทียบเรือทั่วประเทศ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า เร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เนื่องจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณสามเหลี่ยมอันดามัน มีพื้นที่เชื่อมต่อชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในด้านการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เพื่อสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารทางน้ำและการเดินทางท่องเที่ยว ยังไม่มีท่าเรือที่สมบูรณ์เหมาะสมกับการรองรับเรือในสภาพปัจจุบันและที่กำลังจะพัฒนาในอนาคต 
“มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน “มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน

เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ สำหรับการขนส่งรถยนต์และผู้โดยสาร รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยการเชื่อมโยงข้ามระหว่างอ่าวจาก จังหวัดภูเก็ตไปยังจังหวัดกระบี่ ผ่านเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา จำเป็นต้องพัฒนาท่าเรือที่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ท่าเรือท่าเลน จังหวัดกระบี่ และท่าเรือมาเนาะ ท่าเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา สนับสนุนการเดินทางทางน้ำที่จะลดเวลาการเดินทางและการท่องเที่ยวทางน้ำ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางทางบกจากสนามบินกระบี่ไปสนามบินภูเก็ต ระยะทาง 145 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที แต่ถ้ามีการเดินทางทางน้ำตามเส้นทางเดินเรือในอนาคตท่าเทียบเรือมาเนาะ จังหวัดพังงา - ท่าเทียบเรือช่องหลาด จังหวัดพังงา - ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต - ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จังหวัดกระบี่ ระยะทาง 97 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการเดินทางทางบก ประหยัดเวลาได้ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำและเมืองรองให้สามารถเข้าถึงและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย 
 

“มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน

ด้าน นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณรวม 740 ล้านบาทนั้น กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 360 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือมาเนาะ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา งบประมาณ 175 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 2567 - 2569) และ 2.ก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือช่องหลาด ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา งบประมาณ 185 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 2567 - 2569) ซึ่งสถานะทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างหาจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน 

“มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน

สำหรับท่าเรือทั้ง 2 แห่ง เดิมเป็นท่าเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสะพานท่าเรือ หน้าท่าเรือยาว มีบันไดขึ้นลงเรือ ค่อนข้างแคบ ไม่มีหลักผูกเรือ ไม่มียางกันกระแทก ท่าเรือเก่า ชำรุดทรุดโทรม ความปลอดภัยในการใช้งานต่ำ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงก่อสร้างท่าเรือใหม่ อาทิ อาคารบริการ - ที่พักนักท่องเที่ยว รองรับเรือบรรทุกสินค้า ผู้โดยสาร เรือเร็ว เรือหางยาว พื้นที่จอดเรือ ลานจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งการนำงานออกแบบสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นมาใช้ เพื่อให้เกิดความสวยงาม และสื่อถึงอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่อีกด้วย 

“มนพร” สั่งเร่งเครื่อง 4 โปรเจกต์ ท่าเรือวงแหวนอันดามัน 740 ล้าน

ส่วนอีก 2 โครงการ งบประมาณ 380 ล้านบาท ได้แก่ 1.ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 280 ล้านบาท และ 2.ท่าเรือเฟอร์รี่ท่าเลน จังหวัดกระบี่ งบประมาณ 120 ล้านบาท กรมเจ้าท่าได้ขอจัดตั้งงบประมาณในปี 2568 เพื่อดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ระยะเวลา 900 วัน  เมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดจะช่วยยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ ส่งเสริมการเดินทาง ขนส่งทางน้ำให้มีความสะดวกปลอดภัย และสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำเป็นวงแหวนเชื่อมระหว่าง จ.ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (วงแหวนอันดามัน) ลดระยะเวลาการเดินทางเมื่อเปรียบเทียบกับทางถนนลงได้ ก่อให้เกิดการขนส่งรถยนต์ผ่านทางเรือวิ่งตัดอ่าวพังงา สร้างรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ กระตุ้นเศรษฐกิจและภาคธุรกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน