svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

มั่นใจกฎเหล็ก EUDR ผลักดันยางพาราไทยผงาดในตลาดโลก

มั่นใจกฎเหล็ก EUDR ผลักดันยางพาราไทยผงาดในตลาดโลก กยท.จัดทัพเร่งเสริมความแข็งแกร่งเพิ่มศักยภาพเหนือคู่แข่ง

25 กันยายน 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการ กยท.เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อหารือกับนายเสข วรรณเมธีเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป นายพรเทพ ศรีธนาธรอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เกี่ยวกับประเด็นที่สหภาพยุโรป(อียู) เตรียมออกประกาศบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา 

ซึ่งทำให้ทราบว่า การดำเนินมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่องของ กยท. เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดของผลิตภัณฑ์ยางพาราได้  เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับกฎหมาย EUDR  ในขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทยยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเท่าไรนัก  ดังนั้น มาตรการ EUDR จะช่วยพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้นเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง

มั่นใจกฎเหล็ก EUDR ผลักดันยางพาราไทยผงาดในตลาดโลก

สำหรับกฎหมาย  EUDR  เป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้า 7 ประเภท  ซึ่งสินค้ายางพาราก็เป็น 1 ใน 7 ประเภทดังกล่าว ที่จะต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า    สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางจะต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

ทั้งนี้ กยท. ให้ความสำคัญในเรื่อง EUDR โดยได้กำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้บูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานของสหภาพยุโรป  หน่วยงานภาคเอกชน  เกษตรกร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องเอกสารสิทธิ  การบริหารจัดการสวนยางพารา นอกจากนี้ ได้เตรียมความพร้อมการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกร พิกัดสวนยาง ข้อมูลกลุ่มเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางฯ กยท. และข้อมูลผู้ส่งออก  โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้สามารถเชื่อมระบบข้อมูลเข้าด้วยกัน  จนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างเป็นรูปธรรมครบถ้วนทั้ง 100%  

มั่นใจกฎเหล็ก EUDR ผลักดันยางพาราไทยผงาดในตลาดโลก

“กยท. ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยสามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานตามประเทศคู่ค้ากำหนด   โดยได้เร่งพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนยางพาราในระยะยาว อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital PlatformThai Rubber Trade (TRT)  มาใช้ในการประมูลซื้อขาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้vขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain  เข้ามาใช้รองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา จึงสามารถเช็คได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย EUDR หรือไม่  

ในอนาคต โลกจะให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากอียูจะต้องนำกฎหมายเช่นเดียวกับ EUDR มาใช้บังคับอย่างแน่นอน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ซึ่ง กยท.จะใช้โอกาสนี้ในการดำเนินงานเรื่องสำคัญๆอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกันคือ 1. จัดระเบียบและฐานข้อมูลของเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด พร้อมอัพเดทให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งต้องให้เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกับ กยท. ให้ครบทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผลดีให้แก่เกษตรกรที่จะได้รับสิทธิจากนโยบายภาครัฐต่างๆด้วย จากปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนยางจดทะเบียนกับ กยท. ประมาณ 18 ล้านคน  2. การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครอง โดยจะต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และให้พื้นที่ปลูกยางได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น  และ 3.ผลักดันมาตรการต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม