นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีจำนวนมาก และมากมายในหลายรูปแบบที่มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ของผู้บริหารหลายหน่วยงาน รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงให้มาลงทุน โดยสร้างความเสียหายให้ประชาชนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและสังคมเป็นวงกว้าง
โดยจากข้อมูลกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่าคดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อ สูงสุด 5 อันดับแรกคือ 1.หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์
ซึ่งคดีที่มีการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดกว่า 11,500 ล้านบาท ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1.สำนักงาน ก.ล.ต. 2.สภาธุรกิจตลาดทุนไทย 3.สมาคมธนาคารไทย 4.สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย 5.สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
6.สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย 7.สมาคมบริษัทจัดการลงทุน 8.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน 9.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย 10.กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์)
เพื่อริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เพราะปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฟสแรกสิ่งที่องค์กรพัธมิตรจะร่วมกันทำคือ การสื่อสาร การเช็ก ชี้ แฉ ตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการเตือน ตอกย้ำ ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มครองกันให้กับผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อกับมิจฉาชีพ
ดำเนินคดีเพจปลอม หลอกลงทุนไปแล้ว 10 ราย
นายธวัชชัย ทิพยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการเตือน Investor Alert ไปแล้วกว่า 80 ราย และมีการกล่าวโทษเพจที่มีการอ้างอิงโลโก้ชื่อสำนักงาน ก.ล.ต.ไปกว่า 10 ราย และที่เหลืออีก 37 ราย มีการส่งไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม
นี่คือสิ่งที่สำนักงานพยายามที่จะดำเนินการ แต่ถึงแม้ว่าจะพยายามดำเนินการแล้ว แต่สิ่งหล่านี้ก็ยังไม่ได้ลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ต่อภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้เกิดความกว้างขวางมากขึ้น มีการช่วยเหลือกันมากขึ้นเพื่อร่วมมือกันต่อต้านสิ่งเหล่านี้
ดีอีเอสเผยตัวบงการโกงลงทุน ส่วนใหญ่เป็น “ต่างชาติ”
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า เรื่องการหลอกลงทุนถือว่ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึงปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินเหล่านี้ไปเข้ากระเป๋าคนร้าย และคนร้ายส่วนใหญ่ที่เป็นระดับตัวบงการ (mastermind) ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย โดยแทบจะเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก และมีหลายแก๊ง และตอนนี้มีพฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) โดยคนไทยที่ไปเป็นลูกน้องชาวต่างชาติเริ่มมาหลอกลงทุนเองบ้างแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเตือนหรือแนะนำพฤติกรรมหลอกลงทุนคือ มักจะชูผลตอบแทนลงทุนสูงมาก ดังนั้นต้องระวัง สิ่งสำคัญคือ 1.ต้องไม่เชื่อไว้ก่อน 2.ต้องไม่โอน และถ้ามีข้อสงสัยหรือโดยนำรูปไปใช้อย่างผิดกฎหมาย หรือซื้อของไม่ตรงปก สามารถติดต่อเบอร์โทร. 1212 ได้เลย หรือสามารถแจ้งความออนไลน์ หรือติดต่อ 1441 ผ่านตำรวจไซเบอร์ได้
“ตอนนี้สถิติคดีออนไลน์ลดลงไปพอสมควร เมื่อก่อน 800 คดี ตอนนี้เหลืออยู่ 600 คดี ส่วนหนึ่งคนร้ายมุ่งหวังต่อทรัพย์ ซึ่งที่เราร่วมมือตรวจสอบมากคือ “บัญชีม้า-ซิมม้า” โดยตอนนี้ปิดบัญชีม้าเดือนละหมื่นบัญชี จาการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจับเข้าคุกไปจำนวนมาก”
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือความเด็ดขาดของกฎหมาย ถ้าไม่สามารถดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้ แทบจะไม่เชื่อเลยว่าเรื่องการหลอกลวงลงทุนจะหยุดได้ เพราะตอนนี้ยังไม่คิดว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐใดจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ นอกจากร่วมมือทำเพื่อเดินหน้าทำกระบวนการกฎหมายให้มีความเด็ดขาด