29 มิถุนายน 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. กล่าวถึงกรณีที่กระแสโลกในปัจจุบัน ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยบังคับใช้มาตรการ แสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สินค้าและผลิตภัณฑ์ เป็นข้อกำหนดในการซื้อขายสินค้า และผลิตภัณฑ์ตาม เพื่อแสดงว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ มีต้นกำเนิดวัตถุดิบที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ โดยระบุว่า ในส่วนของ ยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ก็จะใช้มาตรการดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายณกรณ์ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ จะมีเฉพาะอียูและสหรัฐฯ เท่านั้น ที่นำมาบังคับใช้และออกมาเป็ยข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งแม้จะกระทบต่อ ยางพารา ของไทยบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะตลาดส่งออก ยางพาราของไทย ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศจีน ที่ปัจจุบันมีมากกว่า 70% ของปริมาณการส่งออก ส่วนที่เหลือ 30% เป็นตลาดสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ และจีนยังนำเข้าไม้ยางพารา อีกกว่า 90% ของปริมาณการส่งออก เหลืออีก 10% เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา อียู ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ
นายณกรณ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กยท. คาดการณ์ว่า ในอนาคตอีกไม่นาน ประเทศผู้นำเข้ายางพาราจากประเทศไทย จะนำกฎระเบียบดังกล่าวมาบังคับใช้เช่นกัน เพราะกระแสในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะนี้ ได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะประเทศจีน ตลาดยางพารารายใหญ่ของไทย ที่ล่าสุดกำลังจะนำมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ มาบังคับใช้เช่นกัน
เพราะจีนจะต้องส่งออกผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ ไปยังตลาดอียู และสหรัฐฯ ที่ต้องการตรวจสอบย้อนกลับ และยิ่งกว่านั้นยังได้นำเรื่องมาตรฐานสินค้า มาใช้บังคับอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ กยท. เตรียมรับมือแล้ว และที่สำคัญมาตรการดังกล่าว จะทำให้ยางพาราของไทย เป็นที่ต้องการของตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นข้อได้เปรียบคู่แข่งอีกด้วย
"ขณะนี้ กยท. จะเร่งดำเนิน มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ถึงแหล่งกำเนิดผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากยางพารา ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยนำเอา GIS (Geographic Information System) หรือระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มาใช้ในการแสดงแหล่งที่มาของผลผลิตว่า เป็นยางพารามาจากแหล่งกำเนิดใด อยู่ที่ไหน ควบคู่ไปกับระบบแอปพลิเคชั่น RUBBERWAY ที่ใช้ในการตรวจสอบการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุด กยท. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านธุรกิจยางพาราและไม้ยางพารากับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) และ สมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา และไม้ยางพาราไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน ที่ได้ให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐาน และการตรวจรับรองก่อนกระบวนการผลิต
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ทั้ง 3 ฝ่ายจะบูรณาการร่วมกับขับเคลื่อน 4 โครงการหลัก โดย 1 ใน 4 โครงการหลักคือ โครงการเพื่อการรับรองกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ของผลิตภัณฑ์จากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยมและความเชื่อมั่น ของผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ "ฉลาก QR ร่วม” ซึ่งเป็นการนำสัญลักษณ์ของ 3 องค์กร มาใช้ประกอบในสัญลักษณ์
ส่วนอีก 3 โครงการหลัก ก็ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจ การยางพาราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาทางธุรกิจให้เป็นไปตามกฎ และข้อกำหนดของการรับรองระบบการจัดการในประเทศจีน , โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้าก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า และ โครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์อย่างถูกต้อง
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท.ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่สอดคล้องเพื่อสนับสนุนมาตรการตรวจสอบย้อนกลับมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำข้อมูลแปลงปลูกยางของเกษตรกร การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกร ข้อมูลการรับซื้อยางของสหกรณ์การเกษตร ข้อมูลการซื้อขายยางพารา ของตลาดกลางยางพารา ของ กยท.
ตลอดจนข้อมูลแปรรูปยาง ของบริษัทเอกชนผู้รับซื้อยาง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญ ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มา ของยางและผลิตภัณฑ์ยางได้ว่า มีแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่มา ของผลผลิตยางที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต และยังได้ดำเนินมาตรการ แสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต ควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการ สวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หรือ มอก. 14061 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษา และส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศอีกด้วย
นายณกรณ์ กล่าวว่า จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของ กยท. จะทำให้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทย สามารถแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และการตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ภายใน 2 ปี และจะเป็นโอกาสทอง ของยางพาราไทย ในการพัฒนาระบบการจัดการสวนยางที่ถูกต้อ งตามหลักสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
เนื่องจากประเทศคู่แข่งในการส่งออกยางพาราของไทย ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แต่ประเทศไทยมี กยท. ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ไทยจึงได้เปรียบคู่แข่งในการขยายตลาด ดังนั้น มาตรการแสดงแหล่งกำเนิดของผลผลิต และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ จะสร้างโอกาส สร้างเสถียภาพความมั่นคง และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับยางพาราได้อย่างแน่นอน