21 มิถุนายน 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กยท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ด้านธุรกิจยางพารา และไม้ยางพารากับ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด (C.C.I.C.) และ สมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน (SMEs ASEAN) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา และไม้ยางพาราไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน
เนื่องจากปัจจุบันประเทศจีน เป็นผู้นำเข้ายางพารา และผลิตภัณฑ์จากยางพารา จากประเทศไทย มากกว่า 70% รวมทั้งไม้ยางพาราอีกกว่า 90% ของปริมาณการส่งออก ได้ให้ความสำคัญกับระบบมาตรฐาน และการตรวจรับรอง ก่อนกระบวนการผลิต เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคทั้งระบบ
ดังนั้นเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพารา และไม้ยางพาราของไทย จะต้องเร่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ได้รับการรับรองมาตรฐาน สามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้
นายณกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่าย ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยางพารา ที่จะพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต ให้ได้รับการรับรอง ลดความเสี่ยงจากการเสียหาย ไม่ถูกตีกลับ และแก้ปัญหายางปลอมแปลง จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
สร้างความเชื่อมั่น ให้กับประเทศคู่ค้า เพิ่มความเข้มแข็ง และสร้างชื่อเสียง ให้กับแบรนด์ยางพาราของไทยมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศผู้นำ การผลิตยาง ที่ได้มาตรฐานของโลก ซึ่งจะเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา และไม้ยางพาราของไทยทั้งระบบ อย่างยั่งยืนและมั่นคง
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้ กยท. สนับสนุนและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร โดยคัดเลือกจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ที่พร้อมพัฒนาตนเอง สู่การอบรมตามมาตรฐาน เพื่อให้เข้าใจถึงกฎ และข้อกำหนด ของการรับรองระบบ การจัดการในประเทศจีน พร้อมทั้งส่งเสริมระบบมาตรฐาน การตรวจสอบรับรอง การลงทุนทางการค้าและพัฒนาระบบตลาด โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะบูรณาการร่วมกับขับเคลื่อน 4 โครงการหลักคือ
1.โครงการเพื่อรับรองระบบการจัดการ เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อน การพัฒนาทางธุรกิจ ให้เป็นไปตามกฎ และข้อกำหนดของการรับรอง ระบบการจัดการในประเทศจีน
2.โครงการเพื่อการรับรอง กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ของผลิตภัณฑ์จากยางพารา และไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มความนิยม และความเชื่อมั่นของผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพาราจากประเทศไทย ผ่านการใช้ "ฉลาก QR ร่วม” ซึ่งเป็นการนำสัญลักษณ์ของ 3 องค์กร มาใช้ประกอบในสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงการ บูรณาการร่วมกัน ให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน ที่จะพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศผู้ใช้ยางในประชาคมโลก
3.โครงการเพื่อตรวจสอบสินค้า ก่อนการส่งออก เพื่อรับประกันความปลอดภัย ในการเดินทางและยืนยันคุณภาพสินค้า
4.โครงการเพื่อการตรวจสอบซัพพลายเออร์ โดยตรวจสอบและช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ให้ได้รับใบรับรองซัพพลายเออร์อย่างถูกต้อง
Mr.Liu Hua Lyu กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า C.C.I.C เป็นองค์กรของจีนที่ดำเนินงานในเรื่องการตรวจสอบ ประเมิน และให้การรับรองสินค้า ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศจีน และระดับสากล ซึ่งข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ C.C.I.C จะให้ความรู้และฝึกอบรมการรับรองระบบ ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยาง ได้เข้าใจถึงกฎ ข้อกำหนด และระบบการจัดการในประเทศจีน
พร้อมทั้งจะสร้างแพลทฟอร์ม สำหรับโครงการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา และให้บริการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ ถึงแหล่งที่มาสำหรับผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพาราของไทย รวมถึงจัดทำแผนสำหรับกระบวนการรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ
นอกจากนี้ C.C.I.C ยังพร้อมอำนวยความสะดวก ในการสื่อสารในกระบวนการ และกฎระเบียบของการรับรอง และตรวจสอบซัพพลายเออร์ และช่วย กยท. ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรฐานของยางพารา และให้บริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออก โดยออกเอกสารรายงานการตรวจสอบ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างคู่ค้า ทั้งนี้พร้อมส่งเสริมและจะเพิ่มการรับรู้ ผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาด และกลุ่มผู้นำเข้าของจีนต่อไป
Mr.Jacky Saechen นายกสมาคม SMEs ASEAN กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพารา เป็นสินค้าที่ประเทศจีน นำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก ทางสมาคมจะดำเนินการประสานงานในเบื้องต้น โดยเลือกกลุ่มตลาดเป้าหมายในประเทศจีน แนะนำผลิตภัณฑ์ยางพารา และไม้ยางพาราของไทย พร้อมตรวจสอบพิจารณาความน่าเชื่อถือ ของผู้ประกอบกิจการในจีน ที่มีความสนใจซื้อสินค้าไทย
ส่งเสริมการลงทุนทางการค้า และระบบการค้าขายระหว่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานระยะยาว รวมถึงพัฒนาโมเดลระบบตลาด ให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสากล ขยายขอบเขตทางธุรกิจ ทั้งในประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้ายว่า กยท. พยายามผลักดันให้เกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มุ่งพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ได้รับการรับรอง สามารถส่งออกไ ด้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ ให้กับสถาบันเกษตรกร ที่พร้อมก้าวสู่บทบาทผู้ส่งออกยางรายใหม่ ที่สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน และตลาดในแถบภูมิภาคอื่น ๆ ดึงความเชื่อมั่นให้ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลก ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อภาคเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมของไทย