svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

หอการค้าฯ ห่วงการเมืองไม่นิ่งฉุดจีดีพีโตไม่ถึง 3%

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ห่วงการเมืองไม่นิ่ง ขาดเสถียรภาพ รวมถึงหากมีการประท้วงนอกสภาฯ จะฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% ด้านดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 39 เดือน

อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ หากการเมืองมีเสถียรภาพไม่มีการประท้วงนอกสภาฯ เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3-3.5% โดยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือน ส.ค. เศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปได้โดยใช้งบประมาณในโครงสร้างของปี 2566 และงบปี 2567 อาจเริ่มต้นใช้ได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.2567 และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 25-28 ล้านคน

หอการค้าฯ ห่วงการเมืองไม่นิ่งฉุดจีดีพีโตไม่ถึง 3%

ทั้งนี้ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปถึงปลาย ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค. ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ใกล้เคียง 3% และหากมองในแง่บวกการจัดตั้งรัฐบาลทำได้เร็ว เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็ว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตได้ 3.6-4%

 

ส่วนกรณีเกิดการประท้วงนอกสภาฯ เกิดการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้าง พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ส่งผลถึงเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจไทยจะโตได้ในกรอบ 2.5-3% อย่างไรก็ตาม มองว่าภาพของเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่โตได้และเดินเครื่องต่อไปภายใต้กลไกการจัดตั้งรัฐบาลโดยใช้สภาฯ เป็นตัวตั้ง

หอการค้าฯ ห่วงการเมืองไม่นิ่งฉุดจีดีพีโตไม่ถึง 3%

สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 55.0 เป็น 55.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หอการค้าฯ ห่วงการเมืองไม่นิ่งฉุดจีดีพีโตไม่ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชน