นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ โดยใช้ร่างกายเป็นอาวุธ ทั้งหมัด ศอก เข่า และเท้า ในสมัยโบราณจะมีสำนักเรียนมวย ซึ่งแตกต่างจากค่ายมวยคือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนักหรือครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย
โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วนค่ายมวยเป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน หรือประลองฝีมือ ปัจจุบันมวยไทยได้กลายเป็นธุรกิจอีกแขนงที่มีผู้ประกอบการ
ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ (Start-up) ที่ให้บริการสนามมวย ทั้งในรูปแบบการเปิดสนามให้บริการเข้าชมการชกมวย และเปิดเป็นสถานฝึกอบรมหรือสอนมวยไทย โดยเป็นกีฬาที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันประเทศไทยมีสนามมวยที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แล้วจำนวน 32 สนาม เช่น สนามมวยนานาชาติรังสิต จังหวัดปทุมธานี สนามมวยสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี สนามมวยเขาหลักสเตเดี้ยม จังหวัดพังงา สนามมวยสุขไพรวัน จังหวัดระยอง สนามมวยเวทีมวยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
สนามมวยเวทีภูเก็ตแอร์พอร์ต จังหวัดภูเก็ต สนามมวยค่ายสุรศักดิ์มนตรี จังหวัดลำปาง และสนามมวยเวทีกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น สนามมวยจึงควรเป็นสนามกีฬาที่มีมาตรฐาน มีระบบการบริหารจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ
รวมถึงมีข้อกำหนดด้านคุณภาพการให้บริการอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัย สุขอนามัย การควบคุมโรค เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ สมอ. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดเป็นมาตรฐาน มอก.เอส การบริการสนามมวย และการบริการสอนมวยไทยขึ้น
สำหรับกระบวนการขั้นตอนการกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส การบริการสนามมวย และการบริการสอนมวยไทย ก่อนที่จะประกาศใช้นั้น สมอ. ได้ลงพื้นที่สนามมวยนานาชาติรังสิต และศูนย์การเรียนรู้และนันทนาการ เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลนำมาประกอบการกำหนดมาตรฐาน
โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น มีใบอนุญาตถูกต้องจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร ห้องน้ำ ระบบรักษาความปลอดภัยและระบบสุขาภิบาล เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและพระราชบัญญัติสาธารณสุข ในส่วนของการจดทะเบียนนักมวย ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน หัวหน้าค่ายมวย และการจัดระเบียบและกติกาในการแข่งขัน เป็นไปตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 เป็นต้น
นอกจากนี้ สมอ. จัดประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมกันให้ข้อคิดเห็นต่อมาตรฐานดังกล่าว โดยมีนายกเทศมนตรีเทศบาลนครรังสิต (ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง) เป็นประธานคณะทำงานกำหนดมาตรฐาน และมี สมอ. เป็นเลขานุการคณะทำงานฯ ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐาน มอก.เอส ทั้งหมด 245 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ จำนวน 121 มาตรฐาน เช่น สำลีทั่วไป ถ่านดูดกลิ่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสเปรย์ดับเพลิง ฯลฯ และมาตรฐานด้านการบริการ จำนวน 124 มาตรฐาน เช่น บริการสักคิ้วและต่อขนตา สนามกีฬาชนโค สนามกีฬาชนไก่ ร้านสะดวกซัก การติดตั้งและซ่อมแซมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ สอนภาษาต่างประเทศ และการบริการรถไฟฟ้าดัดแปลง เป็นต้น