svasdssvasds
เนชั่นทีวี

วันนี้ในอดีต

18 ส.ค. 2520 คดีอัปยศในประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม”

วันนี้ในอดีต 18 สิงหาคม 2520 ครบ 45 ปี คดีประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม” คดีสะท้อนจุดต่ำสุดของความเป็นมนุษย์

วันนี้ในอดีต “เนชั่นออนไลน์” พาย้อนเหตุการณ์คดีประวัติศาสตร์  “คืนบาปพรหมพิราม” อีกหนึ่งคดีที่โด่งดังที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยคดีนี้เริ่มจากมีการพบศพหญิงถูกรถไฟทับที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2520 นับว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ แต่ความไม่ชอบมาพากลกลับเกิดขึ้นเมื่อตำรวจไม่ยอมสืบสวนคดีหาสาเหตุกลับยุติคดีว่าเป็น “อุบัติเหตุ” เท่านั้น

 

18 ส.ค. 2520 คดีอัปยศในประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม”

 

คดีดังกล่าวเกือบถูกสรุปว่าเป็น “อุบัติเหตุ” ไปแล้ว แต่วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ชาวบ้านราว 20 คนในพื้นที่ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า “ศพหญิงสาว” ซึ่งถูกรถไฟทับที่อำเภอพรหมพิราม  แท้จริงแล้วถูกกระทำชำเราและเป็นการนำร่างไปอำพรางคดี โดยผู้กระทำผิดเป็นลูกหลานของตำรวจและเป็นผู้มีอิทธิพล จึงทำให้คดีเงียบไปในตอนแรก ดังนั้นเมื่อเรื่องถึงสื่อมวลชนจึงได้มีการสืบสวนและตีแผ่จนโด่งดังเป็นวงกว้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรื้อฟื้นคดีกลับมาสืบสวนใหม่อีกครั้ง

การสืบสวนคดีประวัติศาสตร์  “คืนบาปพรหมพิราม” พันตำรวจเอก สมชาย ไชยเวช ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายให้ทำคดีนี้ เริ่มแรกในการทำคดีไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับผู้เสียหาย นอกจากว่าเป็นหญิงอายุราว 20 ปี ผิวดำแดง สูง 155 เซนติเมตร หน้ากลม ผมสั้น วันเกิดเหตุสวมเสื้อสีน้ำตาลและกระโปรงผ้าดิบสีขาว บางแหล่งข้อมูลว่า ผู้เสียหายชื่อ “สำเนียง” ตำรวจพบญาติผู้เสียหายในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2520 โดยได้บิดาและมารดาของผู้เสียหายมายืนยันศพ และให้การว่า ผู้เสียหายมีสติไม่สมประกอบ เคยถูกชำเราจนตั้งครรภ์มาแล้ว เมื่อคลอดแล้วออกจากบ้านไปโดยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

 

18 ส.ค. 2520 คดีอัปยศในประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม”

 

การสืบสวนต่อได้ความว่า วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 เวลาราว 23 นาฬิกา ผู้เสียหายขึ้นรถไฟขบวนเร็วที่ 37 เชียงใหม่–กรุงเทพฯ จากสถานีบ้านดาราโดยไม่มีตั๋ว จึงถูกเจ้าหน้าที่ไล่ลงบริเวณสถานีพรหมพิราม เมื่อลงรถไฟแล้ว ผู้เสียหายเดินโซเซด้วยความหิว เพราะไม่มีเงินติดตัว จนไปพบชายวัยรุ่นสองคนบอกว่า จะพาไปรับประทานอาหารที่งานแต่งงานอีก 300 เมตรข้างหน้า แต่กลับพาไปไร่ข้าวโพด แล้วเรียกเพื่อนอีกสองคนออกมาช่วยกันฉุดลากเข้าไปชำเราทีละคน เมื่อคนที่งานแต่งงานทราบเรื่อง ก็พากันมาร่วมชำเราด้วย

การชำเราดังกล่าวดำเนินไปสองชั่วโมง โดยมีชาวบ้านในละแวกนั้นซุ่มดู แต่ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือผู้เสียหาย จนกระทั่งผู้เสียหายถูกบีบคอตายระหว่างถูกชำเรา จากนั้นผู้ชำเราช่วยกันแบกศพผู้เสียหายไปวางให้รถไฟทับบนรางรถไฟเพื่ออำพรางคดี โดยเจาะจงให้ทับตรงอวัยวะเพศเพื่อทำลายร่องรอยการชำเราด้วย รถไฟขบวนเชียงใหม่–พิษณุโลกแล่นมาทับร่างผู้เสียหายจนศีรษะขาดในเวลา 3 นาฬิกาของวันถัดมา กลุ่มผู้ชำเราจึงหิ้วศีรษะผู้เสียหายไปทางทิศตะวันตกห่างจากทางรถไฟไป 20 เมตรเพื่อทำพิธีไสยศาสตร์ พิธีนี้ทำขึ้นเพื่อสะกดวิญญาณ และเป็นเบาะแสหนึ่งที่ทำให้ตำรวจเห็นว่า ความตายครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ

 

18 ส.ค. 2520 คดีอัปยศในประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม”

 

การดำเนินคดีตำรวจได้ผู้ต้องหา 30 คน ผู้ต้องหาอายุน้อยที่สุดอายุ 9 ปี และผู้ต้องหาที่อายุมากที่สุดคืออายุ 65 ปี  พันตำรวจเอก สมชาย ไชยเวช ยังระบุว่า ระบุว่า ระหว่างสืบสวน มีผู้ต้องหาบางคนข่มขู่พยานให้ปิดปากเงียบ โดยพบจดหมายข่มขู่ว่า จะจับพยานขึงพืดขวางรางรถไฟเหมือนผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี ทางการไทยสามารถดำเนินคดีและลงโทษได้จริงเพียง 10 คน ส่วนที่เหลือต้องปล่อยไปเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีตำรวจอีกสองคนถูกดำเนินการทางวินัยฐานปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เนื่องจากไม่พิมพ์ลายนิ้วมือผู้เสียหายเก็บไว้ ทำให้สืบสวนยาก

 

 

“คดีพรหมพิราม”  ยังเป็นคดีซึ่งสะเทือนขวัญและเป็นที่จะจำของคนในสังคมแม้ระยะเวลาผ่านไปแล้วหลายสิบปี จน “นที สีทันดร” ซึ่งเป็น (นามปากกาของสันติ เศวตวิมล) ได้นำคดีนี้มาเขียนนวนิยายชื่อ “พรหมพิลาป” และต่อมาในปี  พ.ศ.2546 ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนต์  “คนบาป พรหมพิราม” แต่ก่อนฉาย ถูกชาวอำเภอพรหมพิรามต่อต้าน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “คืนบาป พรหมพิราม” ซึ่งบรรยายความเจ็บปวดของเหตุการณ์นี้ว่าเป็นคดีสะท้อนจุดต่ำสุดของความเป็นมนุษย์ เรื่องจริงที่อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์

 

18 ส.ค. 2520 คดีอัปยศในประวัติศาสตร์ “คืนบาปพรหมพิราม”