เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา "ราชกิจจานุเบกษา" เผยแพร่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2568 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งงบประมาณ พ.ศ. 2568 นั้น วงเงิน 3,752,700 (3.75 ล้านล้านบาท)
"เนชั่นทีวี" ชวน ติดตามกรอบงบฯ ดังกล่าว ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณลงไปยัง "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" วงเงิน 195,637 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 ถึง 94,799 ล้านบาท
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณคราวนี้ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล รวม 2,550 แห่งทั่วประเทศ
ตรงนี้เอง จึงต้องติดตามว่าท้องถิ่นจะได้ใช้งบประมาณแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย /ไร้การทุจริตหรือไม่ เพราะผลวิจัยและข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอชี้ว่า เม็ดเงินที่มอบให้ท้องถิ่นดำเนินการนั้น มีการทุจริตกันเพิ่มขึ้นเกือบทุกปีด้วยวิธการต่างๆที่แยบยลขึ้น
จับจังหวะเลือกนายก อบจ.กับผู้กำหนดเกม
ช่วงที่ผ่านมาจะ พบว่า สนามเลือกตั้ง นายกอบจ.เจ็ดสิบหกจังหวัดหลายแห่งเชื่อมโยงกับสส.และพรรคขนาดใหญ่หลายพรรค ขณะเดียวกันพบว่า นายกอบจ.หลายจังหวัดทยอยลาออกและมีการเลือกตั้งไปแล้ว เช่นพระนครศรีอยุธยา. ราชบุรี. พิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆก็เริ่มเห็นการยุบสภาและรอกกต.กำหนดวันเลือกตั้ง
สนามอบจ. นั้น ตามกฎหมาย ระบุว่า นายกอบจ.และสจ.มีวาระสี่ปี ในการทำงาน และเลือกตั้งพร้อมกันตามกฎหมาย(หากมีการยุบสภา/ครบวาระ) แต่หากอ่านจังหวะการชิงลาออกก่อนครบวาระของนายกอบจ.หลายจังหวัดในช่วงนี้ พิจารณาลึกๆแล้ว จะพบนัยที่แฝงไว้คือ
ถอดรหัส นายก อบจ.ลาออก ก่อนครบวาระ
"นายกอบจ."จังหวัดนั้นๆ น่าจะอ่านเกมออกแล้วว่า งบประมาณของอบจ.ผ่านสภาจังหวัดเรียบร้อยแล้ว โครงการต่างๆในการพัฒนาพื้นที่ซึ่งต้องกระจายให้สจ.ในอำเภอต่างๆผ่านความเห็นชอบแล้ว
อีกทั้งกระแสนิยมของนายกอบจ.อยู่ในระดับที่ดี/คู่แข่งยังไม่พร้อมเท่าที่ควร นายกอบจ.คนนั้นๆ จึงเลือกวิธีลาออกแทนการยุบสภา-อยู่ครบวาระ และเป็นการเช็คเรตติ้งกลายๆว่าในสี่ปีข้างหน้านั้น สจ./นักการเมืองท้องถิ่น เช่นนายกเทศมนตรี นายกอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอสม.รวมทั้งบ้านใหญ่ในวันนี้ว่ายังหนุนหรือเปลี่ยนขั้วย้ายค่าย โดยเฉพาะสจ.ในจังหวัดนั้นๆที่ต้องทำงานคู่กับนายกอบจ.สี่ปีตามวาระ
เพราะผลคะแนนแต่ละอำเภอในสนามอบจ.จะบ่งชี้ชั้นต้นว่า สจ.คนนั้นๆแนบแน่น/เหินห่างกับนายกอบจ.ที่จะมีผลสำคัญเกี่ยวกับงบประมาณพัฒนาพื้นที่ของสจ.คนนั้นๆแบบปฏิเสธไม่ได้นั่นเอง ส่วนนายกเทศมนตรี นายกอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและอสม.รวมทั้งบ้านใหญ่ก็มีผลพันผูกกับนายกอบจ.ไม่โดยตรงก็ทางอ้อมกับกิจกรรมพัฒนาพื้นที่นั้นๆในสี่ปีข้างหน้า
ข้อมูลเชิงลึก บ้านจันทร์ฯขอกวาดทุกสนาม
หากมองว่า การเมืองระดับชาติว่ามีส่วนเอื้อการเมืองท้องถิ่นด้วยหรือไม่นั้น โดยพฤตินัย พบว่า มีสายสัมพันธ์กัน แต่ในทางนิตินัยนั้น จะพบที่ผ่านมาว่า บางครั้งพรรคใหญ่ๆ เช่น พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทยในอดีต) เคยบอกว่า ปล่อยให้ท้องถิ่นมีอิสระ/พรรคไม่ส่ง แต่หากจังหวัดนั้นๆเป็นพื้นที่ฐานเสียง/ นายกอบจ.อยู่ในปีกนี้ และมีโอกาสชนะสูง พรรคก็จะแจ้งสังคมว่าพรรคหนุนการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดนั้นๆเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาล ดังจะเห็นการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.หลายจังหวัดในช่วงที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย
"เนชั่นทีวี" มีข้อมูลเชิงลึกว่า นายใหญ่แห่ง "บ้านจันทร์ส่องหล้า" มีภารกิจชนะพรรคสีส้มทุกเวทีในวันนี้ -วันหน้า หากได้บ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัดที่พร้อมดูแลตัวเอง พรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนเพราะวันต่อไปสนามสส.นั้น พรรคเพื่อไทยต้องอาศัย นายกอบจ./สจ./นักการเมืองท้องถิ่นและบ้านใหญ่ต่างๆในการล้อม "พรรคสีส้ม" ไม่ให้ได้รับโอกาสนั่นเองแต่จะสมหวังหรือไม่ ต้องติดตามเป็นรายจังหวัดเพราะบางจังหวัดนั้น "พรรคเพื่อไทย" ต้องชนกับ "พรรคภูมิใจไทย"ทั้งสนามอบจ.และสนามสส.นั่นเองหรือบางสนามก็ต้องปะทะกับ "พรรคร่วมรัฐบาล" อื่นๆแบบไม่อาจเลี่ยงได้
+++++
ย้อนดูสถิติ เลือกตั้งนายกอบจ. ก่อนครบวาระ (มี.ค.-ก.ย.67)
11 จังหวัด เป็นชัยชนะ ของ "บ้านใหญ่" และเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาล
1.ชัยธวัช เนียมศิริ นายกอบจ.เลย ตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ.เลย และบ้านใหญ่ตระกูลทิมสุวรรณ (มี สส.เลย สังกัดภูมิใจไทย และเพื่อไทย)
2. "ฉลามดำ" พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกอบจ.นครสวรรค์ กลุ่มนครสวรรค์บ้านเรา และตัวแทน ชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
3. "นายกตี๋" สุรเชษ นิ่มกุล นายกอบจ.อ่างทอง กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด บ้านใหญ่วิเศษชัยชาญ และตัวแทน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย
4. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี กลุ่มคนรักปทุม และเครือข่ายบ้านใหญ่ปทุมฯ สายพรรคภูมิใจไทย
5. "ซ้อสมทรง" สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา บ้านใหญ่วังน้อย (ปั๊ม ปตท.บ้านใหญ่วังน้อย) และมารดา สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย
6. "เจ๊ต้อย" จิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา นายกอบจ.ชัยนาท บ้านใหญ่สรรพยา พี่สาว อนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ และอนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ.ชัยนาท
7. "นายกอาง" ธวัช สุทธวงค์ นายกอบจ.พะเยา พรรคเพื่อไทย และทีมงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
8.มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลก และพันธมิตร สส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย
9. "กำนันตุ้ย" วิวัฒน์ นิติกาญจนา นายกอบจ.ราชบุรี กลุ่มพัฒนาราชบุรี และบ้านใหญ่ราชันมังกร (ฟาร์มหมูวังมะนาว)
10. "นายกโต้ง" นพพร อุสิทธิ์ นายกอบจ.ชุมพร กลุ่มพลังชุมพร และบ้านใหญ่จุลใส "ลูกหมี" ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร
11."นายกปุ้ย" สุรีวรรณ นาคาศัย นายกอบจ.ชัยภูมิ บ้านใหญ่เทพสถิต และภรรยา “มิสเตอร์เกษตร” สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
*หมายเหตุ ยังไม่นับรวมผลเลือกตั้ง นายกอบจ. สามจังหวัด อุทัยธานี - ยโสธร - ระนอง เมื่อวันที่ 6 ต.ค.67 *
เป้าหมาย"พรรคประชาชน" แค่ฝันหรือทำได้
เมื่อหันไปดูความเคลื่อนไหวของ "พรรคประชาชน" กันบ้าง หลังพ่ายสนามเมืองโอ่งไปว่า สนามอบจ.ทั่วประเทศไทย งวดนี้พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสาม ขอปักธง 16 จังหวัด สอดคล้องกับ ที่ "ศรายุทธิ์ ใจหลัก" เลขาธิพรรคประชาชน กล่าวยืนยันกับ "เนชั่นทีวี" เมื่อสัปดาห์ก่อน
แต่อย่าลืมว่า สนามท้องถิ่นนั้นแตกต่างกับสนามสส.เพราะกติกาคือวันลงคะเเนนนั้นแตกต่างกัน เพราะการเมืองท้องถิ่นไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า/เลือกตั้งนอกเขตเหมือนการเลือกตั้งสส.(ยกเว้นเลือกตั้งซ่อมสส.ที่ใช้กติกาเดียวกับเลือกตั้งท้องถิ่น) ตรงนี้ หากนายกอบจ.ประสานบ้านใหญ่-นักการเมืองท้องถิ่นไว้แนบแน่น โอกาสที่คู่แข่งจะพลิกชนะแชมป์เก่านั้นน้อยมาก เว้นแต่ว่าขั้วนายกอบจ./พรรคใหญ่ๆแตกคอและแยกทีมแข่งขันชิงแต้มกันเอง
ถอดรหัสกันง่ายๆ คือ จังหวัดใดกระแส/คะแนนนิยม/นายกอบจ.และสจ.แนบแน่นกับพรรคการเมืองระดับชาติและบ้านใหญ่รวมทั้งดีลกับการเมืองท้องถิ่นทุกเวทีไว้ได้นั้น โอกาสเข้าวินสูงกว่ายิ่ง