กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ช็อกโลกในประวัติศาสตร์ กับหายนะที่ชาวนครราชสีมา หรือชาวโคราชต้องจดจำแบบไม่รู้ลืม วันนี้ในอดีต 13 สิงหาคม 2536 จะพาย้อนรอยโศกนาฏกรรมอาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่า ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์ และถนนโพธิ์กลาง เพราะสามารถเข้า-ออกได้ 2 ทาง กลางเมืองโคราช ถล่มลงมา เมื่อเวลา 10.12 น. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน บาดเจ็บ 227 คน
ขณะเกิดเหตุ มีการอบรมสัมมนาอยู่คณะใหญ่ มีผู้อยู่ในอาคารทั้งหมดกว่า 400 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 47 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมและพนักงานโรงแรม
ด้านการกู้ภัยได้รับการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตในซากตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าขณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีผู้ประสบเหตุจำนวนมากและไม่มีเครื่องมือหนักในการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งการระดมความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนสาเหตุของตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มนั้น เกิดจากการที่ โรงแรมรอยัลพลาซ่า หลังจากได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก"โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา" เป็น "โรงแรมรอยัลพลาซ่า" ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีสถานบันเทิงครบครันอาทิ อาบอบนวด คาเฟ่ เอ็กเซ็คคิวทีฟผับ เลเซอร์เธค บาร์เบอร์ เป็นโรงแรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ได้ปรับปรุงใหม่และมีการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้น เป็นอาคาร 6 ชั้น พร้อมห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่อยู่ชั้น 6
นอกจากโปรเจ็กต์ขยายตึกโรงแรมเป็น6ชั้นแล้ว ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำอีก คือปรับปรุงคาเฟ่ซึ่งเป็นแม่เหล็กสถานบันเทิงที่ทำรายได้ดีใหม่ทั้งหมด พร้อมกับจะสร้างอาคารจอดรถสูง 8 ชั้นที่ใช้งบสูงถึง 30 ล้านสามารถจอดรถได้ 400 คัน และสุดท้ายเป็นการจัดงานใหญ่ฉลองครบรอบ 10 ปีโรงแรมในเดือนพฤศจิกายน 2536 แต่เกิดเหตุการณ์โรงแรมถล่มในวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ก่อน
เหตุการณ์อาคารโรงแรมรอยัลพลาซ่าโคราชถล่ม กลายเป็นข่าวดังช่วงนั้นอย่างมาก สำนักข่าวดังทั้งในและต่างประเทศมุ่งสู่เมืองโคราช เสนอข่าวนี้ตลอด 1 เดือนเต็ม เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตและติดอยู่ในซากตึกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ข่าวโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มถือได้ว่าเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ทุกๆ วันที่ 13 สิงหาคมของทุกปีครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต นำโดยนายชวลิต ตันฑเศรณีวัฒน์อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ที่เสียขาทั้งสองข้างจากตึกถล่ม ได้รวมตัวกัน ทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่มอีกทางหนึ่ง และยังเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลือน
ขณะที่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆ ได้สิ้นสุดคดีเมื่อปลายปี 2543 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้างซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลจากคำพิพากษาเพราะผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้างโดยได้ว่าจ้างวิศวกรคือ นายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรมดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในส่วนคดีแพ่งนั้นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเตล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด ทางโรงแรมได้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม 5ล้านบาท และเงินที่รับบริจาคอีก 5 แสนบาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ 80,000 บาท และผู้พิการได้รับรายละ 50,000 บาท
เหตุการณ์ช็อกโลกที่โคราชครั้งนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ และเป็นคดีตัวอย่างให้กับผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ถึงการดำเนินการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตแบบแปลนก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามหลัก พรบ.ควบคุมอาคาร จากการต่อเติมโรงแรมเพิ่มอีก 3 ชั้น ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว
อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน เมื่อเสาที่ตั้งอยู่บนคานแบกรับน้ำหนักมากเกินไป จึงทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้น 2 ทำให้โครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตามและส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด และเหตุการณ์ภาพตึกกำลังถล่มลงมาเป็นเวลาเดียวกันที่ นายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมเดินทางมาถึงโรงแรมพอดี และเห็นภาพอาคารถล่มลงมาต่อหน้าต่อตา