svasdssvasds
เนชั่นทีวี

lifestyle

‘Rebooting’ ซีรีส์ชีวิตติดลูปที่ไม่ติดกับดักความโลกสวย

Rebooting (2023) เล่าเรื่องของอาซามิหญิงสาวธรรมดาๆ ที่วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน และต้องเลือกระหว่างไปเกิดใหม่เป็นตัวกินมด หรือจะรีบูตชีวิตตัวเองใหม่อีกครั้ง

Rebooting (2023) หรือชื่อดั้งเดิมว่า Brush Up Life คือหนึ่งในซีรีส์ญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของปี 2023 ทั้งในแง่เสียงชื่นชมจากคนดู ผลตอบรับจากนักวิจารณ์ ยอดเรตติ้งการชมที่ค่อนข้างสูง รวมถึงคว้ารางวี่รางวัลจากหลายเวที ซีรีส์ออกอากาศทางช่อง NTV ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 แต่เพิ่งจะลงสตรีมมิ่งเจ้าดังอย่าง Netflix จนเราหาชมกันได้ง่ายๆ เมื่อกลางมกราคมที่ผ่านมา

Rebooting (2023)

ตัวเอกของเรื่องชื่อว่า อาซามิ (รับบทโดย ซากุระ อันโดะ) เธอเป็นหญิงสาวที่มีชีวิตเรียบง่าย ทำงานที่ศาลาว่าการประจำเมือง เลิกงานก็ไปกินข้าวและร้องคาราโอเกะกับเพื่อน อาจเรียกได้ว่าเป็นไลฟ์สไตล์ที่ค่อนไปทางซ้ำซาก แต่แล้ววันหนึ่งอาซามิถูกรถชนเสียชีวิต เธอได้พบชายลึกลับ (ที่แต่งตัวเหมือนพนักงานบริษัท) เขาบอกเธอว่ามีสองทางเลือก หนึ่ง—ไปเกิดใหม่ ซึ่งเธอจะได้เกิดเป็นตัวกินมด (ฮา) หรือ สอง—กลับไป ‘รีบูต’ ชีวิตตัวเอง นั่นคือกลับไป ‘ใช้ชีวิต’ ของตัวเองอีกครั้งเพื่อทำความดีเพิ่มเติม จนสะสมแต้มบุญได้มากพอจะเกิดใหม่เป็นมนุษย์
 

อาซามิเลือกรีบูตชีวิตตัวเองอย่างไม่ลังเล เธอต้องเริ่มใช้ชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารกโดยที่ยังมีความทรงจำจากชาติก่อน การดำเนินชีวิตเลยออกจะน่าเบื่อพอดู แต่นั่นทำให้อาซามิเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอรู้ล่วงหน้า เช่น ป้องกันไม่ให้พ่อเพื่อนเป็นชู้กับครูสาว หรือช่วยให้เพื่อนสาวไม่ถูกผู้ชายหลอก รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวของเธอเอง เช่นว่า เธอจะยังเลือกคบกับผู้ชายคนเดิมหรือไม่ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าท้ายสุดแล้วหมอนี่จะเชิดเงินเธอไป

ตามชื่อเรื่องว่า Rebooting ผู้สร้างเขียนบทให้อาซามิโชคร้ายประสบเหตุนั่นนี่ จนต้องรีบูตชีวิตใหม่อยู่เรื่อย ตลอดเรื่องเธอรีบูตไปถึง 5 รอบ แต่ความสนุกอยู่ที่แต่ละรอบนั้นเธอจะเลือกอาชีพต่างออกไป มีทั้งเภสัชกร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ไปจนถึงแพทย์ ซึ่งตัวซีรีส์พาผู้ชมไปดูว่าแต่ละอาชีพเขาทำงานกันอย่างไร (โดยเฉพาะพาร์ตโปรดิวเซอร์ที่ล้อกับละครเรื่องเก่าๆ ของช่อง NTV เอง) อย่างที่เราทราบกันดีว่า ‘อาชีพ’ เป็นสิ่งที่สำคัญมากในซีรีส์ญี่ปุ่น หลายครั้งอาชีพของตัวเอกคือพล็อตหลักของเรื่อง ซึ่งมีหลากหลายทั้งนักไวโอลิน นักข่าว นักการเมือง หรือนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ ฯลฯ อันนี้อาจจะต่างจากละครของบางประเทศที่ดูจนจบเรื่องแล้วเรายังไม่รู้เลยว่าเขาทำมาหากินอะไร

Rebooting (2023)
 

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่ Rebooting ทำได้ดีคือการผสมผสานความตลกกับความดราม่าได้อย่างลงตัว มันไม่ได้ตลกเรื่อยเปื่อยหรือฟูมฟายจนเกินไป ต้องยกความดีให้กับ Bakarhythm นักแสดงตลกที่ช่วงหลังหันมาทำงานด้านเขียนบทจนกลายเป็นคนที่น่าจับตาอย่างยิ่ง อย่างช่วงหลังของ Rebooting ที่ดูจะมีพล็อตหวือหวาขึ้น (หรืออาจเข้าขั้นเวอร์เกิน) ก็เป็นการล้อกับตอนที่อาซามิเอาเรื่องการรีบูตชีวิตตัวเองไปเขียนเป็นบทละคร แต่กลับถูกรุ่นพี่ให้ความเห็นว่า “เรื่องของเธอมันธรรมดาเกิน แค่ช่วยคนไม่ให้เป็นชู้กัน ใครมันจะอยากดู” เรียกได้ว่า Bakarhythm กำลังล้อเลียนวงการบันเทิงที่ผู้ชมคาดหวังจะเห็นพล็อตที่ตื่นเต้นเกินกว่าชีวิตสามัญธรรมดา

อีกคนที่ต้องปรบมือให้ดังๆ ก็คืออันโดะผู้รับนำ ใครที่เป็นแฟนหนังแฟนละครญี่ปุ่นก็คงคุ้นหน้าเธออยู่บ้าง เช่นในหนังเรื่อง Shoplifters (2018) หรือ Monster (2023) ของฮิโรคาสุ โคเรเอดะ อันโดะถือเป็นนักแสดงที่เล่นบทบาทได้หลากหลาย จะจริงจัง ตลก หรือแปลกประหลาดแค่ไหนเธอเล่นได้หมด อย่างใน Rebooting เธอใช้การแสดงการ์ตูนๆ แบบญี่ปุ่นสำหรับฉากตลก แต่ซีนอารมณ์ที่เธอแค่ร้องไห้นิ่งๆ ก็ทำให้เรารับรู้ว่าได้ว่าตัวละครของเธอเจ็บปวดมากแค่ไหน

Rebooting (2023)

อีกสิ่งที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษใน Rebooting คือเพลงประกอบทั้งหลายที่มาจากแต่ละช่วงชีวิตของอาซามิ เนื่องจากละครเล่าตั้งแต่เธอเกิดจนถึงวัยสามสิบกว่า เราจึงได้ยินเพลงจากทั้งยุค 90s, 2000s, มาจนยุคปัจจุบัน เชื่อว่าผู้ชมน่าจะคุ้นหูอยู่หลายเพลง ไม่ว่าจะ Konayuki (Remioromen), Polyrhythm (Perfume), Glamorous Sky (มิกะ นากาชิมะ) แต่ฉากที่เลือกใช้เพลงได้อิมแพ็กที่สุดน่าจะเป็นฉากที่อาซามิตระหนักได้ว่าการเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างออกไป ทำให้เธอไม่สนิทกับเพื่อนๆ เหมือนชาติก่อน ทันใดนั้นเพลง Secret Base ของวง ZONE ก็ขึ้นมา ซึ่งเนื้อเพลงว่าด้วยเพื่อนที่สัญญาว่าจะมาเจอกันในอีกสิบปีข้างหน้าก็ยิ่งทำให้ฉากนี้ซาบซึ้งไปใหญ่

แม้ว่าตอนจบของ Rebooting อาจจะดูง่ายๆ สบายๆ ไปสักหน่อย แต่คงเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ไม่อยากให้มันดราม่าอะไรมากมาย สิ่งที่ดีคือซีรีส์ไม่เลือกจบแบบโลกสวยด้วยบทสรุปที่งดงามเหลือเชื่อ หรือไม่พยายามเทศนาสั่งสอนผู้ชม เราย่อมรู้แก่ใจว่าจุดประสงค์ของซีรีส์คือการพูดถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต แต่ผู้สร้างฉลาดพอที่จะไม่ป่าวประกาศแก่นเรื่องอย่างโจ่งแจ้ง พร้อมเว้นช่องว่างให้คนดูได้ขบคิดตีความเองบ้าง

Rebooting (2023)

Rebooting ยังทำให้ผู้เขียนนึกถึงภาพยนต์ญี่ปุ่นอีกเรื่อง นั่นคือ Perfect Days (2023, เข้าฉายโรงบ้านเรา 1 กุมภาพันธ์นี้) เล่าถึงชีวิตแต่ละวันของพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ หนังสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นงานประเภทเชิดชูความจนความพอเพียงแบบชวนเลี่ยน แต่ผู้กำกับ (วิม เวนเดอร์ส นักสร้างหนังชื่อดังชาวเยอรมัน) ก็แม่นยำในการทำให้องค์ประกอบทุกอย่างของหนังอยู่ในระดับที่ ‘พอดี’ นั่นทำให้ทั้ง Rebooting และ Perfect Days เป็นผลงานว่าด้วย ‘การรื่นรมย์กับชีวิต’ ที่ไม่เพ้อฝันเกินไป และยังยึดเหนี่ยวกับอยู่กับ ‘ชีวิตจริง’