เอเมอรัลด์ เฟนเนลล์ (Emerald Fennell) นักแสดงสาวที่เราคุ้นหน้าค่าตาจาก The Danish Girl (2015) หรือล่าสุดจาก Barbie (2023) เมื่อมาทำหนังเอง เธอก็ดูมีทิศทางและสายตาที่น่าสนใจเสมอ นับตั้งแต่หนังเรื่องแรกซึ่งเข้าชิงออสการ์ห้าสาขาและคว้ารางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมมาครองอย่าง Promising Young Woman (2020) ที่ว่าด้วยความแค้นเคืองและอัดอั้นของผู้หญิง หากแต่เล่าด้วยน้ำเสียงเสียดสีภายใต้งานภาพฉูดฉาด มาจนถึงหนังลำดับล่าสุดของเธออย่าง Saltburn (2023) ซึ่งเข้าฉายทางสตรีมมิ่ง Prime Video และเพิ่งเข้าชิงสาขานำชายและสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำมาหมาดๆ ก็พูดถึงความเปราะบางของชนชั้นสูงที่เล่าผ่านความสัมพันธ์ชวนวาบหวามของเด็กหนุ่มสองคน ผ่านงานภาพอ่อนไหวและฟุ้งฝันจนไม่อาจคาดเดาตอนจบใดๆ ได้
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Saltburn
ฤดูใบไม้ร่วงปี 2006 โอลิเวอร์ (แบร์รี คีโอกัน, Barry Keoghan—เข้าชิงลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม) ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาพบว่านักศึกษาแทบทุกคนล้วนมาจากชนชั้นสูงหรือจากครอบครัวผู้ดีเก่าที่มีชีวิตและวิธีคิดต่างจากเขาลิบลับ คนเดียวที่พอจะคุยกับเขาได้—แม้เขาจะไม่อยากคุยด้วยเลยก็ตาม—คือเพื่อนนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะต่อต้านสังคม ซึ่งการอยู่ด้วยกันยิ่งทำให้สังคมนักศึกษาผลักโอลิเวอร์ห่างออกมาอีกขั้นด้วยข้อหาเป็น 'พวกเพี้ยน' เขาจึงกลายเป็นเด็กหนุ่มเหงาๆ ไม่ได้รับความนิยม ตรงกันข้ามกับ เฟลิกซ์ (เจคอบ อีลอร์ดี, Jacob Elordi) นักศึกษาหนุ่มรูปหล่อซึ่งทุกคนพร้อมป้อยอ เอาอกเอาใจ และหวังเข้าใกล้เขา
ความสัมพันธ์ของโอลิเวอร์และเฟลิกซ์เกิดขึ้นเมื่อจักรยานของฝ่ายหลังยางแบนก่อนไปสอบ โอลิเวอร์จึงให้เฟลิกซ์ยืมจักรยานเขาไปใช้ นับตั้งแต่นั้น เฟลิกซ์ก็ดึงโอลิเวอร์ให้ไปเข้าร่วมกลุ่มกับเขา แบ่งปันเรื่องราวและความรู้สึกสับสนของวัยรุ่นด้วยกัน ถึงขั้นที่เฟลิกซ์ชวนโอลิเวอร์ไปพักที่บ้านเขาช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน โอลิเวอร์—เด็กหนุ่มผู้มาจากย่านเล็กๆ ในอังกฤษ และอ้างว่าบ้านแตกสาแหรกขาดจากยาเสพติดตั้งแต่ยังเล็ก—จึงได้ไปเยือนคฤหาสน์หลังงามของบ้านเฟลิกซ์ และได้ทำความรู้จักกับครอบครัวใหญ่ของเขาทั้งพ่อหัวอ่อน แม่ผู้สง่างาม (โรซามุนด์ ไพค์, Rosamund Pike—เข้าชิงลูกโลกทองคำ สาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยม) น้องสาวท่าทางหัวรั้น และญาติสนิทที่ดูไม่ชอบหน้าเขาเท่าไหร่นัก
และเรื่องราวต่างๆ—ทั้งความสัมพันธ์ การเติบโตไปจนถึงความพินาศ—ก็เริ่มขึ้นจากฤดูร้อนในปี 2006 นี่เอง
ครึ่งแรก เราอาจพินิจได้ว่า Saltburn เป็นหนังข้ามพ้นวัยในลักษณะเดียวกันกับ Mean Girls (2004) แต่เป็นเวอร์ชั่นเด็กหนุ่ม ความรู้สึกผิดที่ผิดทางและไม่เป็นที่ยอมรับของโอลิเวอร์ ผู้เฝ้ามอง 'ดาวดัง' อย่างเฟลิกซ์ผู้เป็นเสมือนใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้เขามีสังคมในรั้วมหาวิทยาลัย หนังยังจับเอาความรู้สึกหนืดหนึบของการถูกปฏิเสธ ของการไม่ถูกเลือก การที่เราต้องเฝ้ามองเพื่อนสนิทเมินเฉยและออกไปสังสรรค์กับเพื่อนคนอื่นๆ โดยที่ไม่มีเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสมือนยาขมสำหรับหลายๆ คนที่จำใจต้องกล้ำต้องกลืนไม่ว่าจะในโมงยามใดของชีวิต
กระนั้น เมื่อหนังเคลื่อนตัวเข้าสู่ครึ่งหลังหรือเมื่อโอลิเวอร์เข้าไปพักร้อนในบ้านของเฟลิกซ์ หนังก็เปลี่ยนท่าทีจากการข้ามพ้นวัยไปสู่การเป็นหนังธริลเลอร์ขันขื่น เล่าเรื่องราวเซอร์แตกของคนบ้านรวยแบบที่เคยปรากฏมาแล้วใน Parasite (2019) กล่าวคือ คนดูรับรู้ได้ตั้งแต่นาทีแรกๆ ว่าสมาชิกในบ้านเฟลิกซ์นั้นแตกต่างจากคนทั่วไปพอสมควร พวกเขาเป็นผู้ดีเก่าหรือเศรษฐีเงินเก่า ใช้ชีวิตอยู่ได้จากกองมรดกและเงินลงทุนของบรรพบุรุษ รายล้อมด้วยเครื่องประดับจากราชวงศ์เก่าแก่
หนังสำรวจบรรยากาศของครอบครัวผู้ลากมากดีนี้ผ่านบทสนทนาในมื้ออาหารตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่โอลิเวอร์เข้าไปเยือนในบ้าน พ่อของเฟลิกซ์แทบไม่แสดงความคิดเห็นอะไร ไม่มีอะไรสะดุดตาเขาแม้สักนิด เป็นชายที่ใช้ชีวิตอยู่กับการออกคำสั่งคนรับใช้ข้างกายมายาวนานเสียจนสายตาสั้น ไม่อาจประเมินสถานการณ์ใดๆ ได้ ขณะที่แม่ของเฟลิกซ์เป็นคนช่างประนีประนอม คนชนชั้นสูงประนีประนอมเก่งเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันอ่อนไหวเพราะพวกเขาไม่ได้รู้จักกันดีขนาดนั้น พวกเขาซุบซิบข่าวคราวต่อกันแต่ก็ไม่มีอะไรหยั่งลึกลงไปในความรู้สึก ทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องฉาบฉวย ไม่ว่าจะเรื่องของญาติ เรื่องของเพื่อน หรือแม้แต่เรื่องของลูกแท้ๆ การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ได้โดยง่ายทำให้พวกเขาใช้ชีวิตโดยปราศจากความระมัดระวังตัว และไม่ได้กลิ่นอายอันตรายแม้สักนิดหากว่ามีสิ่งแปลกปลอมประสงค์ร้ายอยู่ในบ้าน
โดยทั่วไป หนังที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือการต่อต้านคนรวยผู้ถือทุน เรามักนึกถึงหนังลักษณะอย่าง Parasite ที่ว่าด้วยครอบครัวคนจนที่เข้าไปยึดครองบ้านของคนรวย หรือ The Killing of a Sacred Deer (2017) ซึ่งเล่าถึงเด็กหนุ่ม (คีโอกันอีกเช่นกัน) จากบ้านแร้นแค้น ทำลายชีวิตอันสวยงามของศัลยแพทย์กับเมียรัก กล่าวคือตัวละครมักเป็นขั้วตรงข้ามกันของความขัดแย้ง เป็นคนรวยกับคนจน เป็นคนมีอันจะกินกับคนที่ถูกพรากทรัพยากรไป
แต่ Saltburn กลับไม่เป็นเช่นนั้น กล่าวคือเมื่อหนังเคลื่อนตัวเข้าครึ่งหลัง ตัวละครอย่างโอลิเวอร์ก็ไม่ได้เป็นดังที่เขาร่ายให้เฟลิกซ์ฟังเมื่อตอนต้นเรื่อง เขาเป็นชนชั้นกลาง มาจากบ้านแสนอบอุ่น ที่แต่งเรื่องราวให้ชีวิตตัวเองน่าสงสารในสายตาเด็กบ้านรวยอย่างเฟลิกซ์เพื่อให้เขาเห็นใจเท่านั้น เพราะคนชนชั้นกลางอย่างเขาไม่มีเรื่องราว ไม่มีตัวตน ไม่มีจุดเด่นให้ใครจำ หรือก็คือไม่ได้ร่ำรวยขนาดจะได้รับความนิยม และไม่ได้ยากจนเสียจนน่าสงสารให้คนเข้าหา เขาไม่ได้เป็นใครเลย และนี่เองที่ทำให้ตัวหนังไม่ได้เป็นหนังที่ว่าด้วยการต่อต้านหรือล้างแค้นทางชนชั้น หากวิพากษ์วิจารณ์ความเปราะบางและอ่อนกลวงของชนชั้นสูง ที่เปลือยเนื้อตัวล่อนจ้อนให้โอลิเวอร์สูบเลือดเนื้อจากภายใน
'สูบเลือดเนื้อ' น่าจะเป็นคำที่ใช้บรรยายพฤติกรรมของโอลิเวอร์ได้ดีที่สุด เพราะตลอดทั้งเรื่อง หนังจับจ้อง 'การกิน' ของเขาเป็นสำคัญ นับตั้งแต่การจู้จี้เรื่องไข่ดาวกลางโต๊ะอาหารมื้อเช้า ไปจนถึงฉากอันแสนอื้อฉาวเมื่อเขา 'ดื่ม' น้ำที่เฟลิกซ์ใช้อาบ (และช่วยตัวเอง) หรือแม้แต่การที่เขาดื่มเลือดที่ถูกขับออกจากร่างของ เวเนเซีย น้องสาวของเฟลิกซ์ ก็ดูเป็นสิ่งที่หนังใช้เพื่อสำรวจความวิปริตภายในของโอลิเวอร์ จากเด็กหนุ่มหน้าซื่อที่ค่อยๆ เผยให้เห็นแง่มุมคุกคามอ่านไม่ออก
และแม้ว่าบทหนังบางช่วงจะอ่อนยวบหรือคุมทิศทางไม่อยู่มือไปบ้าง หากแต่ก็ไม่ใช่แผลใหญ่โตทั้งยังถูกประคับประคองด้วยการแสดงอันหมดจดของเหล่านักแสดงนำ โดยเฉพาะคีโอกัน ที่แม้ว่าหลังๆ บท 'คนวิปริต' จะดูเป็นบทอยู่มือสำหรับเขาแล้ว แต่การตีความตัวละครออกมาให้ 'วิปริต' ต่างไปจากเรื่องเดิมๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยคืองานกำกับภาพของ ไลนัส แซนด์เกรน (Linus Sandgren) ผู้กำกับภาพชาวสวีเดนผู้เคยคว้ารางวัลออสการ์มาแล้วจาก La La Land (2016) ผู้ขับเน้นเรื่องราวใน Saltburn ด้วยงานภาพฟุ้งฝัน ล่องลอยและในขณะเดียวกันก็แสนเปราะบางอันเป็นนัยยะของชีวิตตัวละครในคฤหาสน์หลังงามที่ไม่เคยตระหนักรู้ว่าภัยอันตรายเคลื่อนเข้ามาใกล้ถึงตัวแล้ว
ถึงที่สุด Saltburn อาจไม่ได้เป็นหนังที่นำเสนออะไรใหม่นัก (และที่จริงก็ไม่จำเป็น) มันมุ่งเปิดเปลือยความไร้แก่นสารของเหล่าชนชั้นสูงผ่านน้ำเสียงของการเป็นหนังธริลเลอร์เดือดดาล และอุดแผลจากบทที่ปรากฏอยู่ประปรายในหนังด้วยเสน่ห์อันเปี่ยมล้นของเหล่านักแสดงนำ กระนั้น นี่ก็นับว่าเป็นหนังที่น่าชื่นชมของเฟนเนลล์ ชวนให้จับตาว่าในหนังลำดับต่อไปนั้น เธอจะพาเราในฐานะคนดูไปสำรวจแง่มุมความแค้นเคือง เปราะบาง หรืออ่อนไหวจากกลุ่มคนใดในสังคมอีกบ้าง