svasdssvasds
เนชั่นทีวี

lifestyle

รู้จัก ‘Girl with a Pearl Earring’ หนึ่งในภาพวาดพอตเทรตที่งดงามที่สุด

Girl with a Pearl Earring (1665) ผลงานชิ้นเอกของ โยฮันเนส เวอร์เมียร์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพวาดบุคคลที่งดงามที่สุดภาพหนึ่งเคียงคู่กับภาพ Mona Lisa ทว่าเทคนิคที่ใช้วาดภาพนี้ยังคงเป็นปริศนา

ในตอนที่แล้วเราเล่าถึงผลงานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันโหดร้ายน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับสงครามและความรุนแรง ในตอนนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสวยงามเจริญตาเจริญใจกันบ้าง คราวนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับภาพวาดพอตเทรต (portrait) หรือภาพวาดบุคคลที่ถือได้ว่างดงามที่สุดภาพหนึ่งในโลก ภาพวาดนี้มีชื่อว่า Girl with a Pearl Earring (1665)

Girl with a Pearl Earring (1665), โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer). ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ผลงานชิ้นเอกของโยฮันเนส เวอร์เมียร์ หรือออกเสียงแบบดัตช์ว่า โยฮันเนิส เฟอร์เมร์  (Johannes Vermeer) จิตรกรชาวดัตช์ผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพที่แสดงถึงชีวิตประจำวันธรรมดาของชนชั้นกลาง ผลงานของเขามีความโดดเด่นในด้านความเหมือนจริงและการใช้แสงเงาอันจัดจ้าน แต่ละเมียดละไม ฉากในภาพวาดของเขาเกือบทั้งหมดมักจะอยู่ภายในห้องในบ้านของเขามากกว่ากลางแจ้ง ภาพวาดของเขาส่วนใหญ่มักเป็นภาพบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภาพวาดผู้หญิง’

เวอร์เมียร์เป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในยุคสมัยของเขา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ร่ำรวยอะไรนัก อันที่จริงเขาเสียชีวิตไปพร้อมกับความยากจนและหนี้สินด้วยซ้ำ เหตุเพราะเขาทำงานช้าและผลิตผลงานออกมาค่อนข้างน้อย (ในปัจจุบันมีภาพวาดที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานของเวอร์เมียร์จริงๆ เพียง 35 ภาพเท่านั้น) รวมถึงชอบใช้สีที่มีราคาแพงมากๆ ในการวาดภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำเงินที่ผลิตจากหินแร่มีค่าหายากอย่าง ลาพิส ลาซูลี (lapis lazuli) ที่หาได้จากเทือกเขาในอัฟกานิสถาน หินแร่ชนิดนี้ถูกนำเข้ามายังยุโรปโดยขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลทางเรือเพื่อนำมาบดเป็นสี* สีนี้จึงถูกเรียกว่า สีน้ำเงินอัลตรามารีน (ultramarine blue) ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า ‘beyond the sea’ นั่นเอง ว่ากันว่าสีน้ำเงินชนิดนี้มีราคาแพงกว่าทองคำถึงห้าเท่าเลยทีเดียว

ตัวอย่างผงสีที่เวอร์เมียร์ใช้วาดภาพ. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

สีน้ำเงินชนิดนี้จึงมักถูกใช้ในการวาดภาพชนชั้นสูง (ที่มีปัญญาจ่ายเงินค่าจ้างแพงๆ ให้ศิลปิน) อย่างกษัตริย์ ขุนนาง คหบดี ผู้นำทางศาสนาอย่างพระสันตะปาปา หรือใช้วาดภาพของพระผู้เป็นเจ้า, ศาสดาและนักบุญทางศาสนา อย่างพระเยซูคริสต์ หรือพระแม่มารีย์ มีแต่ศิลปินอย่างเวอร์เมียร์นี่แหละ ที่อุตริเอาสีราคาแพงกว่าทองคำนี้มาใช้วาดภาพคนธรรมดาสามัญ หรือแม้แต่ชนชั้นแรงงานอย่างแม่บ้านหรือสาวใช้

ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เวอร์เมียร์ไม่ได้รับการยกย่องเท่าไหร่นัก และดูเหมือนจะถูกนักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกมองข้ามไปด้วยซ้ำ จนในอีกกว่าสองร้อยปีให้หลัง ผลงานของเขาก็ถูกค้นพบโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจารณ์ศิลปะ จนทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในสมัยยุคทองของดัตช์ในที่สุด 

ผลงานของเขาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือภาพวาด Girl with a Pearl Earring หรือ ‘หญิงสาวกับต่างหูมุก’ นี่เอง
 

อันที่จริงภาพวาดนี้ไม่ใช่พอร์ตเทรตธรรมดาๆ หากแต่เป็นประเภทของงานจิตรกรรมที่เรียกกันว่า ‘tronie’ ที่แปลว่า ‘ศีรษะ’ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นในการแสดงภาพเหมือนของบุคคลแบบภาพพอร์ตเทรต หากแต่เป็นการสร้างภาพตัวละครในจินตนาการขึ้นมา และใช้เทคนิคการวาดภาพปลุกให้ตัวละครที่ว่านั้นมีชีวิตชีวาขึ้นมาราวกับเป็นบุคคลจริงๆ ผู้หญิงในภาพนี้เป็นตัวละครหญิงสาวชาวตะวันตกในชุดเครื่องแต่งกายแบบตะวันออกอันแปลกตา ศีรษะสวมผ้าโพกหัวแบบอิสลาม และสวมต่างหูมุก

Girl with a Pearl Earring (1665), โยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer). ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หลายคนสงสัยว่าผู้หญิงในภาพนี้คือใคร เธอเป็นสาวใช้ในบ้านของเวอร์เมียร์ หรือชู้รักของเขากันแน่? นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หญิงสาวในภาพน่าจะเป็นหนึ่งในลูกสาวของเขา (จากทั้งหมด 15 คน) เพราะถึงแม้ภาพวาดนี้จะอบอวลไปด้วยความรัก แต่ก็เป็นความรักที่ปราศจากแรงปรารถนาทางเพศ หากเต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนแบบที่บิดามีต่อบุตรสาวเสียมากกว่า

ถึงแม้จะเป็นภาพพอร์ตเทรตที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดภาพหนึ่งในโลกศิลปะ แต่ภาพวาดนี้ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงมาตั้งแต่แรก ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครจ้างเวอร์เมียร์วาดภาพนี้ในช่วงปี 1665-1666 แต่มันก็ไปตกอยู่ในมือของ วิคตัวร์ เดอ สตัวรส์ (Victor de Stuers) นักสะสมผู้ได้ชื่อว่าเก็บรักษาผลงานของเวอร์เมียร์ไม่ให้ขายออกไปนอกประเทศมากที่สุด ก่อนที่ภาพนี้จะถูกนำไปประมูลโดยลูกเขยของเขาในปี 1881 โดยนักสะสมชาวดัตช์ อาร์โนลดัส อันดรีส เดส ตูมเบอ (Arnoldus Andries des Tombe) ที่ซื้อไปในราคาเพียง 2 กิลเดอร์ 30 เซนต์ (ราว 1.28 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น) โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นงานของเวอร์เมียร์ด้วยซ้ำ แต่หลังจากทำการซ่อมแซมและทำความสะอาดภาพ สีสันที่เคยหม่นมัวในภาพก็เปล่งประกายออกมา แถมลายเซ็นของเวอร์เมียร์ที่เคยถูกความสกปรกบดบังก็ปรากฏขึ้นบนภาพ หลังจากเดส ตูมเบอ เสียชีวิต ด้วยความที่เขาไม่มีทายาท ภาพวาดนี้จึงถูกบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ Mauritshuis ในกรุงเฮก โดยสะสมและจัดแสดงที่นั่นจวบจนทุกวันนี้ และไม่เคยถูกขายต่อไปที่ไหนอีกเลย อันที่จริง ภาพวาดภาพสุดท้ายของเวอร์เมียร์ถูกประมูลขายไปในปี 2004 ด้วยราคา 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งความงดงามของภาพนั้นก็ไม่เทียบเคียงกับภาพ Girl with a Pearl Earring เลยแม้แต่น้อย

ภาพจำลองภาพวาด Girl with a Pearl Earring แบบขยายขนาดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอีกประการเกี่ยวกับเวอร์เมียร์ คือเทคนิคการวาดภาพอันเป็นปริศนา ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและยาวนาน ด้วยรายละเอียดในภาพวาดที่เหมือนจริงจนน่าขนลุก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีใครพบหลักฐานที่แน่ชัดเลยว่าเวอร์เมียร์ศึกษาเรียนรู้การวาดภาพมาจากไหน ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ค่อยพบภาพสเก็ตช์ดินสอ หรือหลักฐานว่าเขาทำการร่างภาพก่อนวาดภาพอีกด้วย

นักประวัติศาสตร์และศิลปินในยุคปัจจุบันหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินร่วมสมัยชื่อดังอย่าง เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) ที่ร่วมด้วยช่วยกันกับผู้เชี่ยวชาญสาขาฟิสิกส์และทัศนศาสตร์ (วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแสงและการมองเห็น) ชาลส์ เอ็ม. ฟัลโก (Charles M. Falco) ร่วมกันตีพิมพ์ข้อวินิจฉัยที่มีชื่อว่า ’Hockney-Falco thesis’ ขึ้นมาในปี 2001 และตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters ที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเวอร์เมียร์น่าจะใช้อุปกรณ์อย่าง ‘camera obscura’ หรือ ‘กล้องทาบเงา’ อุปกรณ์ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนห้องมืดที่มีแสงส่องผ่านช่องหรือรูขนาดเล็กเพื่อรวมแสงให้ภาพจากภายนอกไปตกบนฉากแบบกลับหัว (ถ้าใครนึกไม่ออกลองนึกถึงปรากฏการณ์เงาพระธาตุกลับหัวบนผนังโบสถ์ในวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นตัวอย่าง) ในการวาดภาพส่วนใหญ่ของเขาหรือเปล่า? ฮอกนีย์ยังสังเกตเห็นว่าภาพวาดของศิลปินในศตวรรษที่ 16 และ 17 หลายคนมีลักษณะที่คล้ายกับการวาดภาพด้วยการฉายสไลด์หรือโปรเจกเตอร์ลงบนผนัง ผ้าใบ หรือกระดาษแล้ววาดตาม ซึ่งน่าจะเป็นเทคนิคที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยลักไก่ในการวาดภาพ

ศาสตราจารย์ ฟิลิป สเตดแมน (Philip Steadman) สถาปนิกผู้เขียนหนังสือ Vermeer’s Camera: Uncovering the Truth Behind the Masterpieces (2002) เป็นอีกคนหนึ่งที่สนับสนุนสันนิฐานว่าเวอร์เมียร์ใช้ camera obscura หรืออุปกรณ์ที่ฉายภาพผ่านรูเล็กๆ ไปตกบนผนังในห้องมืด (อาจจะเป็นกล่องหรือห้องที่ปิดไม่ให้แสงส่องเข้าไป) ที่อยู่ด้านตรงกันข้าม แล้ววาดตาม สเตดแมนทำการทดลองด้วยการสร้างฉากจำลองของภาพวาดของเวอร์เมียร์ขึ้นมาในขนาดเท่าของจริง และลองใช้อุปกรณ์แบบเดียวกับ camera obscura ฉายภาพให้ตกลงบนผนัง ซึ่งปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นตรงกันกับภาพวาดของเวอร์เมียร์อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพแบบกลับหัวและกลับซ้ายเป็นขวา ซึ่งเขาก็ยังอธิบายไม่ได้ว่าเวอร์เมียร์วาดภาพให้กลับมาอยู่ในด้านปกติได้อย่างไร?

ในขณะที่ เจน เจลลีย์ (Jane Jelley) ศิลปินและผู้เชี่ยวชาญงานจิตรกรรมชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือ Traces of Vermeer (2017) ทำการทดลองแบบเดียวกัน แต่เธอลอกภาพที่ฉายลงบนกระดาษไข และด้วยความที่เธอไม่อาจแยกแยะสีในที่มืดได้ เธอจึงใช้สีดำในการวาดโดยการลงน้ำหนักเข้มในส่วนที่มืดและลงน้ำหนักอ่อนหรือไม่ลงสีเลยในส่วนที่สว่าง แล้วนำกระดาษไขไปทาบและฝนสีที่วาดถ่ายทอดลงบนเฟรมผ้าใบอีกที ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์พื้นฐานง่ายๆ นี้เอง ที่ช่วยทำให้ภาพกลับมาอยู่ในด้านที่ถูกต้องได้ในที่สุด แล้วเธอจึงค่อยมาลงสีสันอื่นๆ ทีหลัง

ภาพวาด Girl with a Pearl Earring ที่ เจน เจลลีย์ ทำขึ้นใหม่โดยใช้เทคนิค Camera Obscura. ภาพจาก: artsy.net

การทดลองเหล่านี้เองที่เปิดเผยชิ้นส่วนของปริศนาในกระบวนการทำงานของเวอร์เมียร์ ซึ่งบังเอิญไปพ้องกับกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ภาพวาดของเวอร์เมียร์ประกอบด้วยชั้นสีเพียงไม่กี่ชั้นเท่านั้น ดังเช่นในภาพ Girl with a Pearl Earring ซึ่งมีเพียงแค่สี่ชั้นสี และชั้นสีชั้นแรกสุดเป็นอะไรที่น่าสนใจที่สุด เพราะมันไม่ใช่ลักษณะของการร่างด้วยลายเส้น หากแต่เป็นการขึ้นโครงด้วยองค์ประกอบของรูปทรงมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากศิลปินทั่วไป (ที่วาดภาพจากการเล็งด้วยสายตาปกติ) ทำกัน และชั้นสีแรกสุดของภาพก็ดูเหมือนจะปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันบนผืนผ้าใบโดยไม่มีเส้นไกด์ไลน์หรือการมาร์กตำแหน่ง และแทบไม่มีการแก้ไขเลยด้วยซ้ำ 

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้อัจฉริยภาพของเวอร์เมียร์ต้องแปดเปื้อนหรือถดถอยลงไปแต่อย่างใด เพราะเวอร์เมียร์เองก็เป็นจิตรกรผู้มีความเป็นเลิศในการใช้แสง จนได้รับฉายาว่า "Master of Light” (ปรมาจารย์แห่งแสง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาพวาด Girl with a Pearl Earring ภาพนี้ ที่ใช้แสงสาดส่องใบหน้าของหญิงสาวอย่างนุ่มนวล จนปรากฏแสงวาววามบนริมฝีปากอิ่มเอิบ และแสงวับวามของต่างหูไข่มุกอันมลังเมลืองนั่นเอง

นิทรรศการเชิงข้อมูลเกี่ยวกับภาพวาด Girl with a Pearl Earring. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาพวาด Girl with a Pearl Earring ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพพอร์ตเทรตที่สวยที่สุดในโลก เทียบเคียงกับภาพวาด Mona Lisa (1503-1506) ผลงานชิ้นเอกของจิตรกรชั้นครูแห่งยุคเรอเนสซองส์ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) จนได้รับฉายาว่า “Mona Lisa of the North” (โมนา ลิซา แห่ง(ยุโรป)เหนือ) เลยทีเดียว

ภาพวาดนี้ทวีความโด่งดังจากนิยาย Girl with a Pearl Earring (1999) ของนักเขียนชาวอังกฤษ เทรซี เชวาเลียร์ (Tracy Chevalier) ตีพิมพ์ไปทั่วโลก จนทำให้มิตรรักนักอ่านและมิตรรักแฟนศิลปะทั่วโลกต่างตามมาชมภาพวาดนี้ให้เห็นกับตา นอกจากภาพวาดนี้จะถูกเขียนเป็นนิยายแล้ว ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ Girl with a Pearl Earring (2003) และถูกคัดลอก ทำซ้ำ และตีความใหม่มากมาย ทั้งบนปกหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วน ถูกนำไปใส่บนเสื้อยืด ปลอกหมอน ที่รองแก้ว กระเป๋า ถุงผ้า นาฬิกา ถุงเท้า  การ์ตูน หรือภาพมีมในอินเตอร์เน็ต ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังอย่าง แบงก์ซี (Banksy) ยังวาด (หรือพ่น) ภาพนี้ขึ้นใหม่ในสไตล์กราฟิตี้บนผนังในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ โดยวางตำแหน่งให้สัญญาณกันขโมยอยู่ตรงกับต่างหูมุกพอดิบพอดี

พิพิธภัณฑ์ Mauritshuis ในกรุงเฮก. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ปัจจุบันภาพวาด Girl with a Pearl Earring ถูกสะสมและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Mauritshuis ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเชิงข้อมูลเกี่ยวกับภาพวาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ภาพวาดแบบขยายขนาดด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จำลองพื้นผิวของภาพวาดอย่างละเอียด ให้ผู้ชมได้ลองสัมผัสจับต้องได้จริงๆ หรือการแสดงตัวอย่างผงสีที่เวอร์เมียร์ใช้วาดภาพและรงควัตถุที่ใช้บดเป็นผงสีอีกด้วย

 

*ในยุคสมัยโบราณก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม สีไม่ถูกบรรจุขายเป็นหลอด หากแต่ใช้หิน แร่ธาตุ หรือรงควัตถุจากพืชหรือสัตว์ต่างๆ มาบดเป็นผง แล้วผสมกับน้ำมัน, ไข่ไก่, และส่วนผสมทางเคมีอื่นๆ เพื่อใช้ในการวาดภาพ ทำให้สีเหล่านี้เก็บรักษาได้ยาก ผสมเสร็จแล้วต้องใช้วาดภาพให้เสร็จในทันทีก่อนที่สีจะแห้งหรือเสื่อมสภาพ เวลาเก็บสีเหล่านี้ก็จะเก็บในกระเพาะปัสสาวะหมูแทนหลอดใส่สีนั่นเอง

 

 

ข้อมูลอ้างอิง