ในปี 2020 เคยมีดราม่าเมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้หญิง) ทวีตข้อความว่า “เอาจริง ผู้ชายควรรู้ว่า ‘เสื้อบอล’ ไม่ใช่แฟชั่น และไม่สมควรใส่ไปข้างนอกนะคะ มันแบบ! เสื้อที่คุณควรใส่ ใส่แล้วหล่อมันคือเสื้อเชิ้ตค่ะ #บอกไว้ให้คิส” จนเกิดเป็นดีเบตระดับชาติ สงครามระหว่างเพศบนบรรณพิภพนกฟ้า (ที่ตอนนี้เป็น X ไปแล้ว) และลามไปยังโซเชียลมีเดียต่างๆ แม้แต่สื่อมวลชนเองก็หยิบประเด็นนี้ไปเล่นข่าว
ว่าแต่เสื้อบอลจะดูเป็นแฟชั่นได้ไหม?
ความพยายามจะทำให้เสื้อบอลเป็นแฟชั่นไอเท็มนั้นมีมาโดยตลอด ทั้งจากสโมสรฟุตบอลเองที่พยายามปรับดีไซน์ให้มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น ทั้งการร่วมคอลแลบกับแบรนด์ดีไซเนอร์ การถ่ายภาพแอดโฆษณาที่ใช้ผู้หญิงร่วมด้วยจากที่แต่ก่อนใช้เพียงตัวนักเตะในสโมสรเท่านั้น เพื่อให้เสื้อบอลนั้นไม่จำกัดการสวมใส่แต่เฉพาะผู้ชายที่เชียร์สโมสรนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร
การจะทำให้เสื้อบอลดูเป็นแฟชั่น แน่นอนว่ามันอาจจะต้องมาจากรันเวย์แฟชั่น เพื่อให้ดูเป็นเหมือนการรับรองว่าเสื้อบอลได้กลายเป็นแฟชั่นไอเท็มแล้ว กระแสเสื้อบอลในฐานะชิ้นเสื้อผ้าบนรันเวย์แฟชั่นนั้นเริ่มต้นมาจากกระแสแฟชั่นในแบบ anti-fashion ที่มีหัวหอกเป็นดีไซเนอร์เชื้อชาติรัสเซียอย่าง โกชา รับชินสกี (Gosha Rubchinskiy) และ เดมนา วาซาเลีย (Demna Gvasalia) เมื่อครั้งที่ยังทำงานให้กับแบรนด์ Vetements รวมไปถึงการทำงานต่อมาในฐานะครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Balenciaga
แนวคิดของกระแสเสื้อผ้าแบบ anti-fashion มีใจความสำคัญอยู่ที่การนำเอาสิ่งที่ดูไม่เป็นแฟชั่นในแบบนิยามเก่าที่ต้องมีความหรูหรา มาสร้างสรรค์ใหม่หรือให้ความหมายใหม่ว่านี่ก็เป็นแฟชั่นได้เหมือนกัน เริ่มต้นจากเสื้อยืด DHL ของ Vetements ที่เป็นตัวจุดกระแสแฟชั่นในแบบ anti-fashion และในรันเวย์คอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 2018 ของ โกชา รับชินสกี ก็มีผลงานคอลแลบกับแบรนด์ Adidas เป็นเสื้อฟุตบอลสกรีนลายภาษารัสเซีย ที่เป็นตัวจุดกระแสให้เสื้อบอลกลายมาเป็นไอเท็มแฟชั่นบนรันเวย์ระดับโลกได้
แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่ใช่แฟชั่นที่แมส เพราะอย่างที่ Coco Chanel เคยกล่าวไว้ว่า “A Fashion That Does Not Reach The Street Is Not A Fashion” เสื้อบอลของ โกชา รับชินสกี จึงยังได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่คนคูลๆ ที่โอบรับกระแส anti-fashion มาสร้างอัตลักษณ์การแต่งตัว เพราะในช่วงแรกที่กระแสเสื้อผ้าแฟชั่นแบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นทุกวันนี้ ก็มักจะถูกตั้งคำถามว่า เราจะซื้อเสื้อผ้าที่ดูขาด เก่า เสื้อยืดที่ดูเหมือนของแจก หรือแม้กระทั่งเสื้อบอลในราคาแพงแสนแพงเทียบเท่าเสื้อไฮแบรนด์ไปทำไม
ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นแบบลักชัวรี่ หรือแบบ anti-fashion ที่แม้ลักษณะงานภายนอกจะแตกต่างกันสุดขั้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือราคาที่แพงลิบลิ่ว
การที่แฟชั่นแนวแบบ anti-fashion ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแสหลักของแฟชั่นระดับโลก โดยเฉพาะแบรนด์ Balenciaga ก็ทำให้เสื้อบอลได้อานิสงส์ในความนิยมนี้ไปด้วย เพราะในคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2020 Balenciaga มาพร้อมขบวนเสื้อบอลในแบบต่างๆ สีต่างๆ เต็มรันเวย์ และที่สำคัญเทรนด์มันจุดติดเสียด้วย เสื้อบอลของ Balenciaga กลายเป็น ‘ของมันต้องมี’ ประจำซีซั่น ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง ก่อนจะเสริมความแรงด้วยคอลเลกชั่นระดับตำนาน Balenciaga x Adidas เมื่อปีที่ผ่านมา ที่ยังมีเสื้อบอลเป็นหนึ่งในไอเท็มหลักของคอลเลกชั่นและส่งผลให้เสื้อบอลกลายเป็นแฟชั่นไอเท็มได้อย่างเต็มรูปแบบเสียที
แต่การจะใส่เสื้อบอลกับเสื้อผ้าสไตล์สปอร์ตแวร์มันคงยังดูไม่เป็น ‘แฟชั่น’ มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะถ้าจะใส่ตามลุคของ Balenciaga อีกทั้งราคาก็แสนจะแพง การที่จะทำให้แฟชั่นรูปแบบหนึ่งแมสได้ มันจะต้องเห็นคนใส่เดินตามท้องถนนเหมือนที่ Coco Chanel ได้กล่าวเอาไว้ เสื้อบอลจากรันเวย์อันมีจุดกำเนิดจากงาน anti-fashion (ที่แพงระยับ) จึงเดินทางมาสู่สิ่งที่เรียกว่าสไตล์ Blokecore
ที่จริงสไตล์ Blokecore เป็นคำแสลงแบบอังกฤษที่เอาไว้ใช้เรียกผู้ชายที่แต่งตัวแบบไม่สนใจแฟชั่น แบบว่าใส่เสื้อบอลก็ออกจากบ้านได้แล้ว เหมือนดราม่าที่เกิดขึ้นในปี 2020 นั่นแหละ แต่คำนี้ถูกหยิบยืมมาสร้างความหมายใหม่โดยเหล่า Gen Z ใน TikTok ที่ใช้เสื้อบอลมาเป็นไอเท็มแห่งความท้าทายในการมิกซ์แอนด์แมตช์ให้กลายเป็นลุคที่มีความเป็นแฟชั่นให้ได้มากที่สุด จนเกิดเป็นสไตล์ใหม่ที่ยังเรียกว่า Blokecore อยู่ โดยมีเสื้อบอลเป็นหัวใจหลักในการแต่งตัว
และอย่างที่เรารู้กันว่า TikTok เป็นตัวจุดกระแสป๊อปคัลเจอร์หลายๆ อย่างในโลกในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือแฟชั่น Blokecore จาก TikTok ก็เริ่มส่งอิทธิพลในการแต่งตัวของวัยรุ่นไปจนถึงไอดอลเกาหลีทั้ง (G)I-dle, aespa หรือแม้กระทั่งเจนนี่แห่งวง Blackpink และนั่นยิ่งทำให้เสื้อบอลกลายมาเป็นแฟชั่นไอเท็มแห่งยุคที่ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับทีมฟุตบอลหรือผู้ชายแต่เพียงอย่างเดียว และนอกจากเสื้อบอล ที่หมายถึงกีฬาฟุตบอลแล้ว ยังลามไปถึงเสื้อกีฬาที่มีลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้ออเมริกันฟุตบอล และเสื้อฮอกกี้อีกด้วย
Blokecore นอกจากจะเป็นสายธารของ anti-fashion แล้ว ยังกลายมาเป็นมางาน anti anti-fashion อีกที
ตอนนี้เทรนด์เสื้อบอลจึงกลายเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในทุกระดับของแฟชั่น ทั้งบนรันเวย์แบรนด์ระดับโลกในคอลเลกชั่นล่าสุดอย่าง Louis Vuitton, Dsquared2, Benetton หรือแบรนด์ไทยเอง เราก็เพิ่งจะเห็น 789 Trainee ร่วมออกแบบกับแบรนด์ Absolute Siam Store ในงาน BIFW ที่ผ่านมา หรือถ้าคุณเป็นสายวินเทจ ไปเดินตึกแดงที่จตุจักร ก็จะพบกับร้านเสื้อบอลวินเทจหลายร้าน ในราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น และสำหรับสายสตรีทแวร์ เพียงแค่เข้าแอปฯ ช้อปปิ้งไม่ว่าจะสีส้มหรือสีม่วง เสื้อบอลในรูปแบบงานสตรีทแวร์สไตล์เกาหลี โดยเฉพาะแบรนด์ Winnersquad ก็จะมีให้ช้อปเต็มไปหมด
หรือถ้าจะเป็นแบบไทยๆ ก็ยังมีอภิชาติฟาร์มให้สวมใส่ ในราคาน้องๆ Balenciaga เลยแหละ