ในโลกแฟนตาซี หากว่าการเอาชนะราชาปีศาจผู้ชั่วร้ายไม่ใช่จุดจบของการผจญภัย แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่องบทใหม่ล่ะ อะไรคือสิ่งที่จะได้รับการเล่าขานหลังจากนั้น?
สำหรับมนุษย์ธรรมดาอายุขัยไม่เกินร้อย เรื่องราวหลังจากปราบราชาปีศาจคงเป็นการกลับไปประกอบสัมมาอาชีพหลังจากโลกสงบสุข, การเตรียมกองทัพไว้รอรับศึกครั้งต่อไป, หรืออาจจะแค่ใช้ชีวิตคู่กับคนรักแสนสุข
แต่ถ้าเรื่องราวหลังการปราบราชาปีศาจนั้นไม่ใช่ของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอายุขัยยาวนานระดับที่เวลา 10 ปี ถือว่าเป็นช่วงพริบตาหนึ่งเท่านั้นล่ะ เรื่องราวที่จะถูกเล่าจะเป็นแบบไหน?
ข้างต้นคือเนื้อหาที่ถูกเล่าไว้ใน 'คำอธิษฐานในวันที่จากลา FRIEREN' (Frieren: Beyond Journey's End, 2023) กับเรื่องราวของ ฟรีเรน ผู้ใช้เวทมนต์เผ่าเอลฟ์ที่ครั้งหนึ่ง เธอเคยร่วมเดินทางไปกับปาร์ตี้ผู้กล้า และสามารถปราบจอมมารได้สำเร็จ ในช่วงเวลา 10 ปี เมื่อโลกสงบสุขแล้ว ทุกคนต่างก็แยกย้ายกันไป และสิ่งที่รอฟรีเรนหลังจากนั้นคือการเดินทางที่มีสายสัมพันธ์ของผู้คนที่จากไปแล้ว และยังอยู่ต่อบนโลกใบนี้
ผลงานเรื่องดังกล่าวในฉบับมังงะได้อาจารย์คาเนฮิโตะ ยามาดะ (Kanehito Yamada) เป็นผู้แต่งเรื่อง และมีอาจารย์สึคาสะ อาเบะ (Tsukasa Abe) รับผิดชอบการวาดภาพ พวกเขาจับคู่กันทักถอเรื่องราวที่กลับด้านจากผลงานแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ แถมยังเป็นการมองโลกทัศน์ผ่านเผ่าเอลฟ์ที่มีอายุนับพันปี ทำให้หลายเหตุการณ์ในเรื่อง ผู้ชมอาจจะเข้าใจในตอนแรกว่า ฟรีเรนนั้นดูเย็นชาจนไร้อารมณ์ แต่ความจริงท่าทีที่ดูไม่ชัดเจนว่าคิดอะไร เกิดจากการผ่านโลกมามาก จนทำให้มุมมองหลายอย่างเป็นการคิดอย่างเยือกเย็นกว่าที่มนุษย์ปกติจะทำกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะเน้นการ 'โชว์เทพ' จนตัวละครเอกแทบจะไม่มีการพัฒนาใดในเรื่อง นั่นเพราะการได้พบกับผู้คนจำนวนมากผ่านหลากช่วงเวลา ยังคงเปลี่ยนสภาพจิตใจของตัวเอกอย่างฟรีเรนอยู่เสมอ หลายครั้งในเรื่อง คนที่ติดตามผลงานเรื่องนี้จะพบว่าความเยือกเย็นที่มีของตัวเอกนั้น ความจริงแล้วมาจากการประกอบจิตใจที่เคยแหลกสลายให้มาเป็นรูปทรงที่ใกล้เคียงเดิม
ด้วยสไตล์เล่าเรื่องที่แตกต่างจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ทำให้มังงะเรื่องนี้มียอดขายทะลุ 10 ล้านเล่ม ในช่วงเวลาเพียงแค่สามปีที่ผลงานเรื่องนี้ออกตีพิมพ์ ทั้งยังได้รางวัลมังงะยอดเยี่ยมจากเวทีทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ
ดังนั้นเมื่อมีการประกาศข่าวว่าจะมีการนำเอามังงะเรื่องนี้มาสร้างเป็นงานอนิเมชั่น แฟนด้อมของเรื่องนี้ก็พูดคุยกันอย่างตื่นเต้น ทั้งในมุมยินดีที่จะได้เห็นงานชิ้นนี้เคลื่อนไหวแบบเต็มสูบ และในมุมกังวล ว่าตัวเนื้อหาที่มีความละเมียดผ่านหน้ากระดาษจะถูกถ่ายทอดผ่านมาบนสื่อใหม่ได้สมศักดิ์ศรีต้นฉบับหรือไม่
ถือเป็นโชคดีที่ทีมงานที่รับผิดชอบการสร้างอนิเมะ คําอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN น่าจะเป็นการระดมพลมือดีที่ถนัดดัดแปลงมังงะที่ดูไม่น่าเล่าเป็นอนิเมชั่นให้ออกอรรถรสได้ไม่แพ้ต้นฉบับ นับตั้งแต่สตูดิโออนิเมชั่นที่รับผิดชอบคือ Madhouse ซึ่งเคยดูแลการสร้างอนิเมะจากผลงานดังหลายเรื่อง ทั้ง One Punch Man, Overlord, Perfect Blue
และถ้าถามว่าทีมงาน Madhouse จริงจังกับงานชิ้นนี้ขนาดไหน ก็ระดับที่ว่า โยชิอากิ คาวาจิริ (Yoshiaki Kawajiri) หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโออนิเมะแห่งนี้ และเป็นผู้สร้างผลงานอย่าง Vampire Hunter D: Bloodlust ยังกลับมาร่วมวาดสตอรี่บอร์ดด้วย
กระนั้นผู้เล่นในตำแหน่งสำคัญอย่างผู้กำกับอนิเมะก็ยกให้เป็นหน้าที่ของ เคอิจิโร ไซโตะ (Keiichiro Saito) คนทำงานรุ่นปัจจุบันที่สร้างปรากฏการณ์ให้ผู้ชมอนิเมะจากการกำกับอนิเมะเรื่อง Bocchi the Rock! มาก่อน และในผลงานชิ้นนี้เขาได้นักดนตรีชาวอเมริกา อีวาน คอล ( Evan Call) ที่เคยแต่งเพลงให้กับอนิเมะ Violet Evergarden มารับหน้าที่
จากชื่อของทีมงานหลักก็ถือว่าทำให้คนที่รอติดตามมั่นใจได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่กระแสความไฮป์ต่อของอนิเมะเรื่องดังกล่าวก็พุ่งทะยานขึ้นอีก เมื่อทางสถานีโทรทัศน์ Nippon TV ซึ่งเป็นเครือข่ายหลักที่ฉายอนิเมะเรื่องนี้ได้ประกาศว่า จะมีการเปิดตัวอนิเมะเรื่องนี้ด้วยการนำเอาอนิเมะไปฉายครั้งแรกยาวสองชั่วโมงต่อเนื่องบนสล็อตรายการ Kinyou Roadshow ที่ปกติทางช่องสงวนไว้ให้กับการฉายภาพยนตร์ดังและมีเรตติ้งดีในประเทศญี่ปุ่น
เปิดตัวกันแบบอลังการแล้ว ทาง Nippon TV ยังนำเอาอนิเมะ คำอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN ไปเป็นผลงานเรื่องแรกที่เข้าฉายในสล็อตรายการใหม่ของทางช่องที่ใช้ชื่อแบบตรงๆ ว่า 'FRIDAY ANIME NIGHT' อีกด้วย เรียกได้ว่า ถ้าทางช่องหรือผู้จัดจำหน่ายไม่มั่นใจในคุณภาพ ก็คงไม่ผลักดันให้อนิเมะเรื่องนี้เป็นเรือธงในด้านนี้อย่างแน่นอน
ผลลัพธ์ของการผลักดันนี้ออกมาอย่างสวยงามทีเดียว เพราะมีสื่อมวลชนของประเทศญี่ปุ่นระบุไว้ว่าการฉายอนิเมะ คำอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN ความยาวพิเศษสองชั่วโมง สามารถทำเรตติ้งสูงถึง 6.8% แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่ใช่ตัวเลขระดับสูงชะลูดแบบที่ทุกคนบนแดนอาทิตย์อุทัยมาจับตามอง แต่ก็มีการระบุว่า หากเทียบเรตติ้งกับอนิเมะด้วยกันเอง ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องดัง เช่น เวทย์ผนึกมาร ซีโร่ (Jujutsu Kaisen 0) เมื่อครั้งที่มาฉายโทรทัศน์ก็ทำเรตติ้งได้ 4.3% หรือ ภาพยนตร์อนิเมะ จดหมายฉบับสุดท้าย...แด่เธอผู้เป็นที่รัก (Violet Evergarden: The Movie) ซึ่งมีกระแสดีมาตลอดยังทำเรตติ้งได้ 5.1% ในการฉายซ้ำบนโทรทัศน์
เมื่อเทียบกับ คำอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN ที่เป็นผลงานใหม่ ยังไม่เคยฉายมาก่อน และมีฐานคนดูไม่เท่ากับสองเรื่องข้างต้น เรตติ้งระดับ 6.8% ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่งดงามเลยทีเดียว
ส่วนยอดเรตติ้งในการฉายปกติ อย่างตัวอนิเมะที่ออกฉายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 2023 มียอดเรตติ้งผู้ชมในภูมิภาคคันโตอยู่ที่ 2.4% แม้ว่าจะดูตัวเลขอาจจะน้อยลงจากการฉายรอบพิเศษ แต่อนิเมะเรื่องนี้ฉายอยู่ช่วง 23:00-23:30 น. และผลงานเรื่องนี้มีเรตติ้งที่สูงกว่า โดราเอมอน, พริตตี้เคียว, One Piece, เครยอนชินจัง, และ Spy x Family ตอนที่ฉายในสัปดาห์เดียวกัน
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ คำอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN มีเรตติ้งสูงก็มาจากการที่ทีมงานสร้างอนิเมะสามารถผลิตงานออกมาคนดูสามารถสัมผัสได้ถึงน้ำหนักของเวลาที่เปลี่ยนผันไป อารมณ์อันมากมายของฟรีเรนที่ยากจะแสดงออก แต่ขณะเดียวกันก็ยังถ่ายทอดความสงบสุขของยุคสมัยผ่านภาพได้หมดจด และถึงภาพจะไม่ได้มีฉากแอ็กชั่นหวือหวา (ตามเนื้อหาในท้องเรื่อง) แต่งานภาพก็มีความขยันและละเอียดในจุดที่เรื่องอื่นมักจะไม่ทำกันด้วย
เพลงประกอบของ อีวาน คอล เองก็ทำงานอย่างเหมาะสม โดยในเรื่องนี้เขาใช้เครื่องสายจากยุคกลาง ผสมกับเครื่องดนตรีอื่น เช่น แบนโจ, ขลุ่ยอาร์เมเนีย (Shvi) ซึ่งปกติมักไม่ค่อยได้ยินในเพลงประกอบอนิเมะเท่าไหร่นัก ก่อนจะสลับมาเล่นเพลงอย่างเรียบง่ายด้วยความตั้งใจ และให้พื้นที่กับเสียงบรรยากาศ (ambient sound) จนทำให้บทเพลงประกอบมีบรรยากาศชวนนึกถึงการเดินทางกลับถิ่นเก่าที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี
องค์ประกอบมากมายเหล่านี้ทำให้ คำอธิษฐานในวันที่จากลา FREIREN กลายเป็นผลงานที่ออกมาสมกับความไฮป์ที่สั่งสมกันมา และตัวอนิเมะมีกำหนดฉายไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม ปี 2024 ดังนั้นใครที่ยังไม่ได้ติดตามผลงานเรื่องนี้ก็สามารถตามไปรับชมกันได้