สัปดาห์ที่ผ่านมา Taxi Driver (1976)—หนังที่ส่ง มาร์ติน สกอร์เซซี คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นครั้งแรกในวัย 34 ปี ทั้งยังเข้าชิงออสการ์อีกสี่สาขา—เพิ่งหวนกลับมาลงโรงฉายในบ้านเรา ให้หลายๆ คนได้มีโอกาสรับชมหนังขึ้นหิ้งอีกเรื่องของสกอร์เซซีในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่หนังลำดับล่าสุดของเขาอย่าง Killers of the Flower Moon (2023) จะเข้าฉาย
"ความโดดเดี่ยวติดตามผมมาทั้งชีวิต มันอยู่กับผมทุกแห่ง ในบาร์ ในรถ บนทางเดิน ในร้านค้า ทุกแห่งเลย ไม่มีทางหนีออกไปได้ ผมคือมนุษย์ผู้โดดเดี่ยวของพระเจ้า"
มากมายหลายเหตุผลว่าทำไม Taxi Driver อันว่าด้วยเรื่องของแท็กซี่ผู้มี 'ดวงตาที่เปลี่ยวเหงาที่สุดคู่หนึ่งของโลกภาพยนตร์' จึงถูกยกให้เป็นหนังขึ้นหิ้งอีกเรื่องของฮอลลีวูด หนึ่งในนั้นคือการที่มันเป็นหนังที่หยิบจับเอาชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบ โยงเข้ากับการเมืองในภาพใหญ่ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่อง ทราวิส (โรเบิร์ต เดอ นีโร—ผู้มอบการแสดงอันงดงามให้ภาพยนตร์) อดีตนายทหารผ่านศึกจากสงครามเวียดนาม หวนกลับมาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ด้วยการทำงานเป็นคนขับแท็กซี่ ตระเวนไปทั่วเมืองนิวยอร์ก นัยหนึ่งเพื่อเยียวยาปัญหานอนไม่หลับซึ่งทำให้เขามีเวลาว่างมหาศาล
หนังเปิดด้วยฉากที่ทราวิสขับรถเลาะเลียบไปตามซอกซอยในนิวยอร์ก แสงไฟจากอาคารและข้างถนนสาดเข้ามาในรถ รายล้อมด้วยคนเมา คนค้ายา และโสเภณี ก่อนที่หนังจะตัดรับแววตาเหงาเศร้าของทราวิสผ่านกระจกหลัง สกอร์เซซีใช้เวลาให้คนดูได้อยู่กับตัวละครทราวิสอยู่หลายนาที กับการใช้ชีวิตอยู่ในรถเล็กแคบกับผู้โดยสาร—ซึ่งด้านหนึ่งแล้วคือคนแปลกหน้า—ปราศจากบทสนทนาเป็นชิ้นเป็นอัน หรือส่วนใหญ่แล้วเขาก็มักเป็นผู้รับฟังความในใจอันหมองเศร้าไปจนถึงความคิดรุนแรงของลูกค้า (หนึ่งในนั้นรับบทโดยสกอร์เซซีเอง โดยเขารับบทเป็นลูกค้าคนสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันให้ทราวิสตระหนักถึงการใช้ความรุนแรงและความมืดมนขมขื่นของสังคม ด้วยการพูดพล่ามถึงความปรารถนาจะสังหารเมียตัวเองที่นอกใจเขา) ด้านหนึ่ง ทราวิสจึงกลายเป็นคนที่โดดเดี่ยวอย่างที่สุดในนิวยอร์ก ไม่มีใครคุยกับเขาและเขาก็ไม่ได้คุยกับใคร กระทั่งเมื่อเขาได้เจอ เบตซี (ซีบิล เชเพิร์ด) อาสาสมัครสาวที่ช่วยนักการเมืองหาเสียงช่วงเลือกตั้ง หากแต่เขาถูกหล่อนปฏิเสธในการออกเดตหนที่สอง และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทราวิสหันหน้าเข้าสู่โลกแห่งความรุนแรง รวมทั้งการที่เขาได้พบเจอกับ ไอริส (โจดี ฟอสเตอร์) โสเภณีวัยเพียง 12 ปีที่ยิ่งตอกย้ำให้ทราวิสเห็นถึงความอัปลักษณ์ของสังคม และผลักให้เขาวาดภาพการ 'ล้างบาง' โลกอันโสโครกนี้
นอกจากนี้ Taxi Driver ยังเป็นหนังแจ้งเกิด พอล ชเรเดอร์ คนเขียนบทที่ในเวลาต่อมาขยับมาเป็นผู้กำกับหนังดังหลายๆ เรื่องอย่าง Mishima: A Life in Four Chapters (1985) และ First Reformed (2017) โดยในเวลานั้น ชเรเดอร์วัย 30 อยู่ในช่วงที่เขาเรียกว่าเป็น "จุดที่ตกต่ำที่สุดของชีวิต" ซึ่งคลี่คลายออกมาเป็นบทหนังว่าด้วยคนขับแท็กซี่ผู้เก็บงำความขมขื่นต่อโลกทั้งใบ "ผมรู้สึกว่าชีวิตไม่ไหวเอาเสียเลยก็ตอนที่ตัวเองไม่ได้ข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกต่อไปแล้ว ชีวิตเลยอยู่ในภาวะดำดิ่งสุดขีด ผมพบว่าตัวเองเอาแต่ขับรถเตร่ไปทั่วเมือง ดื่มเละเทะ นอนไม่หลับ ดูหนังโป๊เพื่อปลุกเร้าตัวเอง แต่พร้อมกันนั้นก็มีภาวะทำลายตัวเองจากความเศร้าซึมด้วย จนถึงที่สุด ผมเริ่มรู้สึกปวดในช่องท้อง เกิดเป็นแผลเล็กๆ ที่ทำให้ผมต้องเข้าโรงพยาบาลซึ่งทำให้อาการต่างๆ ที่ว่ามาหายไปในที่สุด
"ตอนผมออกมาจากโรงพยาบาล เรื่องของคนขับแท็กซี่ก็โผล่แวบเข้ามาในหัว เป็นเหมือนอุปมาของชีวิตที่ผมมี หรือคืออุปมาที่ผมมองหาอยู่ เรื่องของชายที่ไม่อาจเอาตัวเองไปเกี่ยวโยงกับใครได้ ชายที่พาใครไปยังแห่งหนไหนก็ได้เพื่อแลกเงิน ชายที่ทำได้ทุกอย่าง เป็นเสมือนเครื่องจักร กระนั้น เขาก็ยังอยู่ท่ามกลางฝูงชน เป็นภาพแทนอันสมบูรณ์แบบที่ผมรู้สึกตอนอยู่ท่ามกลางความโกลาหล ทว่า แสนรู้สึกโดดเดี่ยวน่ะ"
ฉากหลังของหนังคืออเมริกาช่วงหลังสงครามเวียดนาม นับเป็นหนึ่งในสงครามใหญ่ที่สหรัฐฯ ปราชัย—ทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของสงครามเย็น อันหมายถึงการปะทะกันระหว่างโลกเสรีนิยมกับโลกคอมมิวนิสต์—เช่นเดียวกับนายทหารคนอื่นๆ ทราวิสไม่ได้ถูกมองเป็นวีรบุรุษ เขาเป็นได้แค่ 'คนแพ้' ที่หาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไม่เจอในโลกที่ปราศจากการสู้รบ สหรัฐฯ ไม่ได้ให้อะไรเขานอกไปเสียจากเมืองเน่าเหม็นกับงานเล็กๆ ที่เขาทำแค่เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพวันต่อวัน และแม้หนังจะไม่ได้อธิบายโดยชัดเจน กระนั้น ก็พอเห็นภาพของตัวละครที่ตกอยู่ในภาวะ PTSD หรือความเครียดที่เกิดขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์รุนแรงสะเทือนขวัญของทราวิส ทั้งการนอนไม่หลับ การหมกมุ่นกับความรุนแรง หรือความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น แวดล้อมด้วยบรรยากาศของนักการเมืองผู้ขายนโยบายว่าด้วยสวัสดิการแก่คนตัวเล็กตัวน้อย
Taxi Driver จึงเป็นการเล่าเรื่องของ 'คนแพ้' ที่หวังอยากล้างแค้นโลก ทราวิสหมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ว่าเขาคือผู้มาโปรด คือคน 'ชำระ' เอาความโสมมออกไปจากนิวยอร์ก "พวกสัตว์มันออกมาหากินตอนกลางคืน โสเภณี คนเอาไม่เลือก พวกวิปริต ราชินี คนติดยา ขี้ยา แล้วก็พวกติดโรค" ทราวิสมักพร่ำพูดถึงความคิดตัวเองด้วยน้ำเสียงเรียบเรื่อย เฉยเมยแย้งกันกับรูปประโยคที่เต็มไปด้วยความรุนแรง นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่ง มันยังพูดถึงความเปราะบางของความเป็นชายที่ทราวิสยึดครองไว้ เขาเริ่มเกลียดชังโลกมากกว่าที่เป็นเมื่อเบตซีบอกปัดปฏิเสธเขา พร่ำพูดถึงศัตรูที่มองไม่เห็นต่อหน้ากระจก ปั้นมัดกล้ามเนื้อไม่ให้อยู่ในจุดที่อ่อนปวกเปียก ไปจนถึงมีฉากที่เขาทดสอบความแข็งแกร่งของตัวเองด้วยการเอาผิวหนังไปลนไฟ! และเริ่มดำเนินแผนการกวาดล้างซึ่งตั้งต้นด้วยการเด็ดหัวนักการเมืองที่เบตซีทำงานให้
"แล้วสักวัน สายฝนจะชำระล้างไอ้พวกโสโครกนี้ออกไปให้หมดจากถนน ฟังนะ ไอ้พวกไร้ค่า พวกเดนมนุษย์ นี่คือเสียงจากชายที่จะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว ชายที่จะลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อต่อกรกับพวกขยะ พวกคนชั่ว พวกคนสกปรก คนไม่มีราคา คนสารเลวทั้งหมด นี่คือชายที่ลุกขึ้นยืนหยัดแล้วในที่สุด"
ความแม่นยำอย่างหนึ่งของสกอร์เซซีคือ มีโอกาสมากมายทีเดียวที่ทราวิสจะกลายเป็น 'ขวัญใจ' คนดูอันเนื่องมาจากภาพความเท่และหล่อเหลาของเดอ นีโร แม้พฤติกรรมของตัวละครจะจัดว่าเป็นพวกหัวรุนแรงก็ตามที กระนั้น ด้วยฝีมือการกำกับที่มักให้ภาพทราวิสเป็นชายผู้เลื่อนลอยและหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ก็ทำให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครได้ไม่เต็มที่นัก รวมทั้งการแสดงของเดอ นีโร ที่ผลักให้ตัวละครทราวิสมีลักษณะจมจ่อม ท่าทางเก้ๆ กังๆ เมื่อต้องเข้าสังคม ก็ทำให้ทราวิสมีลักษณะของความเป็นมนุษย์ที่ยากจะเอาใจช่วยแต่ก็น่าเห็นใจ โดยเฉพาะเมื่อตัวละครตัดสินใจเดินหน้าแผนการล้างบางของตัวเองด้วยการบุกไปหานักการเมืองซึ่งเป็นเป้าหมายของเขา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ทราวิสจึงเบี่ยงไปเป็นการกวาดล้างเป้าหมายที่ง่ายกว่าอย่างทลายซ่องโสเภณีแทน
องก์สุดท้ายของเรื่องนั้นถูกนักวิจารณ์หยิบมาวิพากษ์กันหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ขวบปีที่มันออกฉายจนถึงตอนนี้ ว่าถึงที่สุดแล้ว ทราวิสรอดตายจากการล้างบางในครั้งนั้นหรือไม่ หน้าหนังสือพิมพ์และคำเชิดชูที่เขาตัดเก็บไว้นั้นเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า หรือมันเพียงแต่เกิดขึ้นในหัวของเขา (เช่นเดียวกับหลายๆ เหตุการณ์ที่เขาสนทนากับตัวเองเพียงลำพังในห้องพักเล็กแคบ) ในฐานะภาพของความปรารถนาที่ทราวิสอยากเห็นตัวเองเป็น นั่นคือเป็นผู้พิทักษ์ มีชื่อเสียง ได้รับการชื่นชมและจดจำ เหนือสิ่งอื่นใด เขาได้ช่วยเหลือไอริส เด็กหญิงผู้เป็นโสเภณีออกมาจากซ่องได้ในที่สุด
รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเบตซี เมื่อหนังใส่ฉากที่เธอเป็นฝ่ายเข้าหาเขาก่อนด้วยการขึ้นมานั่งในรถแท็กซี่ ให้เขาไปส่งที่บ้านเพื่อจะพบว่าเขาขับรถจากเธอไปโดยไม่ร่ำลา มากกว่านั้น หนังยังจับจ้องไปยังตัวเบตซีที่ค่อยๆ ทิ้งระยะหายไปจากสายตาของทราวิสมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายเป็นภาพสะท้อนที่เขาในฐานะผู้ชายได้เป็นฝ่ายกำชัยที่ได้ปฏิเสธผู้หญิงที่ใครต่อใครหมายปอง—หากแต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต่างต้องตีความกันต่อไป และสกอร์เซซีเองก็ดูพึงใจให้เป็นเช่นนั้นด้วย
47 ปีหลังหนังออกฉาย การที่ Taxi driver ยังถูกหยิบมาพิเคราะห์พิจารณาอยู่เป็นระยะๆ เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่ยืนยันถึงความอมตะและประเด็นอันแข็งแกร่งที่หนังพูดถึง นั่นคือเรื่องของผู้คนแตกสลาย คนที่พ่ายแพ้และต้องใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่ทอดทิ้งพวกเขาอยู่เรื่อยๆ—ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมิใช่หรือ