svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สมาคมนักข่าวฯ เปิดวงถกกติกาใหม่เลือก สว. สรุปแล้วใครได้ใครเสีย?

09 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมาคมนักข่าวฯ จัดเวทีวิพากษ์กติกาเลือกวุฒิสภา "ปริญญา" แนะ กกต.ทบทวนระเบียบแนะนำตัว ห่วงปัญหาสุดท้ายทำประกาศผลไม่ได้ ขณะที่ "เสรี" มองมีโอกาสฮั้วหากคะแนนเท่ากันเยอะ จนมี สว.ชุดจับสลาก ด้าน "ไอลอว์" รอศาลปกครองชี้ขาด 16 พ.ค.นี้ ร้องเปิดให้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์

9 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ "เลือก สว.กติกาใหม่ ใครได้ใครเสีย"  โดยมีผู้ร่วมเวที คือ "นายเสรี สุวรรณภานนท์" ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา "นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนไอลอว์ 

สมาคมนักข่าวฯ เปิดวงถกกติกาใหม่เลือก สว. สรุปแล้วใครได้ใครเสีย?

โดยนายปริญญา ได้หยิบยกระเบียบการแนะนำตัวมาชี้ถึงให้เห็นถึงปัญหาที่อาจทำให้ผู้สมัคร สว.ไม่ทราบข้อมูลผู้สมัครด้วยกันในรอบการเลือกที่มีการเลือกไขว้ และจากข้อห้ามต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ มองว่าเป็นการปิดช่องข้อมูลของผู้สมัคร จึงแนะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปรับแก้ระเบียบก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว.

ขณะเดียวกัน ยังห่วงปัญหาที่จะตามมาภายหลังจากการร้องคัดค้านการเลือก สว. ทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไป ก่อนจะย้ำกระบวนการเลือกตั้งโปรงใส ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบจะลดปัญหาคำร้อง อีกทั้ง ข้อห้ามจากกฎหมายว่าให้ กกต.ควรถอยทบทวน และเสนอแนะให้เพื่อเติมการแนะนำตัวให้ผู้สมัครรู้จักกันมากกว่านี้ รวมทั้งให้ กกต. เอาผิดป้องกันปราบปรามกับกลุ่มจ้างคนมาสมัครหรือการให้เงินจูงใจ หรือการกระทำเข้าข่าวฮั้วการเลือก สว. 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

"เชื่อว่า 2 ก.ค. กกต.ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกได้ ด้วยจำนวนผู้สมัครที่มาก และขั้นตอนเลือกที่ยุ่งยากซับซ้อน หากเกิดการกระทำไม่สุจริต หรือมีการกระทำผิดในระดับอำเภอ หากมีคำร้องคัดค้านจำนวนมาก กกต.จะวินิจฉัยได้ทันหรือไม่ ดังนั้น ควรทำให้กระบวนการโปร่งใส ต้องมีผู้สังเกตการณ์ร่วม มีสื่อมวลชนร่วมสังเกตโดยไม่ได้ยุ่งในกระบวนการ" นายปริญญา กล่าว 

ส่วนเทปบันทึกภาพการเลือกต้องเผยแพร่สาธารณะ ทั้งระดับ อำเภอ จังหวัดและในระดับประเทศ และยังห่วงเรื่องปัญหา หากเลือก สว.ชุดใหม่ไม่ได้ ตามมาตรา 109 ของรัฐธรรมนูญให้ สว. ยุค คสช. รักษาการไปโดยไม่มีกรอบเวลา แล้ว กกต.จะรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ่นได้หรือไม่ 

 

"ไม่ได้มีผู้สมัครเพียง 7,000 คน แต่มีเป็น 100,000 คน มีการโหวต 6 ครั้ง ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ กกต. จะทำงานไหวหรือไม่ หากคำร้องมีเป็น 10,000 เรื่อง กกต. จะทำทันหรือไม่วันที่ 2 ก.ค." นายปริญญาระบุ 

 

ขณะที่ นายเสรี กล่าวว่า ภาพรวมการเลือก สว.ครั้งนี้ กฎหมายกำหนดเลือก 20 สาขาอาชีพ เพื่อให้ต่างจากการเลือกตั้ง สส. ส่วนการแนะนำตัวแม้จะต่างจากยุคก่อน มีข้อห้ามเงื่อนไขมากมาย ก็เพื่อขีดเส้นให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบ โดยเชื่อว่า กกต.ก็เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดความไม่มั่นใจถึงระเบียบที่ออกมา 

เสรี สุวรรณภานนท์  

สำหรับข้อสังเกตการฮั้วเลือก สว. นั้น คาดการณ์ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ไม่ได้เกิดทั้งหมด อาจเกิดจากนักการเมืองบางกลุ่ม และผู้สมัครบางกลุ่มที่รวมตัวกัน ส่วนการรณรงค์ให้ความรู้ หรือการรณรงค์ให้คนไปสมัคร แม้จะทำได้แต่อาจถูกมองว่าทำให้เกิดความไม่สุจริตเที่ยงธรรม เป็นเหตุให้ประกาศผลไม่ได้ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายภายหลัง

อย่างไรก็ตาม หากการเลือกเกิดกรณีคะแนนเท่ากัน ก็จะเกิดการจับฉลากทำให้ สว.ชุดใหม่ถูกเรียกว่าเป็น สว.ชุดจับฉลากได้ ดังนั้น ขอแนะว่าอย่าทำให้กติกาตึงเกินไป แต่ต้องเกิดความยุติธรรม รวมทั้งขอให้ กกต.รับฟังทุกความคิดเห็นและนำไปปรับใช้ อย่าให้เกิดปัญหาตามมา และขอให้ผู้สมัครเข้าสู่กระบวนการที่โปร่งใสตั้งแต่แรกเริ่ม  

 

"กลัวเขาจะฮั้ว กลัวกลุ่มอำนาจเดิมกลุ่มคนโบราณไม่อยากให้เข้า คนก็จะมีแต่เลือกกลุ่มของตัวเอง เป็นเรื่องธรรมชาติ  แต่อย่างไรก็ตามการไม่เลือกคนอื่นแล้วเลือกตัวเอง มันทำให้คะแนนนอน แต่อาจมีบางคนที่ได้คะแนนมากกว่าคนอื่น ส่วนคนที่ได้คะแนนน้อย ผลที่ออกมาคะแนนจะเท่ากันเยอะเมื่อเท่ากันกฎหมายกำหนดว่าทุกระดับชั้นอำเภอ จังหวัด ประเทศ หากคะแนนเท่ากันเท่ากันใช้กระบวนการจับฉลากทุกขั้นตอน จน สว.ชุดนี้ถูกมองว่าเป็น สว.ชุดจับฉลาก" นายเสรี กล่าว 

 

ด้าน นายรัชพงษ์ กล่าวถึงข้อห่วงใยในการเลือก สว.ครั้งนี้ คือ คำร้องเกี่ยวกับระเบียบที่อยู่ในชั้นพิจารณาศาลปกครอง และยังมีข้อกังขาถึงระเบียบการแนะนำตัวที่ศาลนัดไต่สวนในวันที่ 16 พ.ค.นี้ และปัญหาจากการจำลองการเลือกตามระเบียบ พบว่าการเลือกไขว้ ผู้สมัครต่างกลุ่ม ต่างไม่รู้จักกัน เช่น กลุ่มศิลปินไม่รู้จักกับกลุ่มข้าราชการ หากไม่ใช่คนดัง จะไม่เป็นที่รู้จัก จึงเป็นเหตุผลให้ไอลอว์ จัดทำเว็บไซต์เซเนต 67 มาแก้ปัญหานี้ เพื่อให้ผู้สมัครทราบข้อมูลของกันและกัน 

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล

 

"ขอท้วงติง กกต. มีเวลา 5 ปี ก่อนการเลือกครั้งนี้ แต่ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมและเพิ่งออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวออกมาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ดังนั้น เสนอทำให้การเลือกคล้ายการเลือกตั้ง สส. หรือ เป็น สว.จากการเลือกตั้ง และการรณรงค์ให้คนไปสมัครรับเลือก สว.ไม่ผิดกฎหมาย เพราะเห็นใจ กกต. ระดับปฏิบัติจากระบบที่ซับซ้อน ทั้งการเลือก 20 กลุ่มเลือกกันเองและการเลือกไขว้ โดยเชื่อว่าหากให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปร่วมจะเป็นเรื่องดี หากได้เข้าไปร่วมสังเกต ทักท้วงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ให้ กกต.มีความชัดเจนเรื่องนี้" นายรัชพงษ์ กล่าว 

logoline