22 เมษายน 2568 posttoday รายงานข่าวเฉพาะกิจ โดยระบุว่า พนันออนไลน์:ทำลายครอบครัว - แรงงาน "Tech" ไหลเข้าสายมืด
"ลูกชายหายไปพร้อมหนี้พนัน 6 แสน ฉันไม่รู้แม้กระทั่งว่าเขายังมีชีวิตอยู่ไหม"
เสียงของแหล่งข่าวผู้เป็นแม่จากสมุทรปราการ นี่ไม่ใช่กรณีเฉพาะราย แต่คือหนึ่งในหมื่นครอบครัวที่กำลังพังทลายเพราะธุรกิจพนันออนไลน์ที่เติบโตนอกกฎหมาย ขณะเดียวกัน แรงงานฝีมือจำนวนมากกำลังไหลเข้าสู่ระบบมืด เพราะรัฐไทยไม่สามารถสร้าง "ทางเลือก" ที่ปลอดภัยให้พวกเขา
ในมูลค่าธุรกิจพนันใต้ดินกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี สิ่งที่ไม่ถูกบันทึกไว้ คือจำนวนครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รักให้กับ "หนี้พนัน" และพฤติกรรมเสพติดที่แฝงมากับเทคโนโลยี คนไทยกว่า 34 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากระบบพนัน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อีกกว่า 7 ล้านคน เข้าสู่วงจรหนี้จากการพนัน และทำให้ปัจจุบันมูลหนี้สะสมจากการพนันออนไลน์สูงกว่า 20,000 ล้านบาท
"ทุกเช้า ผมต้องแอบเช็คโทรศัพท์ลูกว่ากดโอนเงินไปเล่นเว็บไหนอีกหรือเปล่า" – พ่อเลี้ยงเดี่ยวในกรุงเทพฯ
เสียงเหล่านี้ไม่เคยปรากฏบนเวทีนโยบาย หรืออยู่ในความสนใจของผู้มีอำนาจ ทั้งที่มันคือ ความล้มเหลวของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปกป้องครอบครัวไทย
ภาพ Generative ด้วย AI
เงามืดที่ดูดกลืนแรงงานดิจิทัล
ในอีกมุมหนึ่ง ขณะที่ครอบครัวหนึ่งกำลังพัง...แรงงานฝีมืออีกจำนวนมาก กำลัง "เลือก" เข้าสู่ระบบผิดกฎหมาย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น มีแรงงานกว่า 50,000 คน ที่เคยทำงานด้าน IT, กราฟิก, คอนเทนต์ ผันตัวไปทำงานให้เว็บพนัน หลายคนคืออดีตพนักงาน Start-up หรือฟรีแลนซ์ที่โดนเลิกจ้าง งานเริ่มจากแค่ "ทำโฆษณา" หรือ "ออกแบบแบนเนอร์" ก่อนขยับเข้าสู่โครงสร้างเว็บพนันเต็มรูปแบบ
"ผมเคยทำบริษัทเกม แต่ตกงานช่วงโควิด ตอนนี้ทำเว็บพนันครับ เงินดี ไม่มีใครตรวจ"– หนุ่มวัย 29 ปี ในกรุงเทพฯ
ในโลกความจริง นี่คือ "งาน" ที่ให้เงินดี ไม่มีสวัสดิการแต่มีอนาคต (ของใครบางคน)
"คนที่ควรถูกจับไม่เคยถูกแตะ คนที่แค่รับจ้างกลับกลายเป็นแพะ" – นักกฎหมายด้านไซเบอร์
แม้ประเทศไทยจะยังไม่เก็บภาษีจากธุรกิจพนันออนไลน์ แต่หากอิงตามโมเดลต่างประเทศที่จัดเก็บในอัตราเฉลี่ย 20% ของกำไร รัฐบาลไทยสูญรายได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ยังมี VAT ที่หายไปอีก 7,000 ถึง 12,000 ล้านบาทต่อปี และเงิน "ส่วย" ที่ไหลออกนอกระบบรัฐอีก 45,000 – 78,000 ล้านบาท
รวมแล้วรัฐบาลไทย ปล่อยให้เงินกว่า 3 แสนล้านบาท/ปี หายไปในเงามืด ขณะที่...งบเยียวยาสุขภาพจิตมีเพียงไม่ถึง 1% ของยอดนี้ งบปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ยังต่ำกว่ารายได้เว็บพนันที่รัฐรู้ว่า "มีอยู่จริง" เสียอีก
คำถามใหญ่ที่ปราศจากคำตอบ ถ้ารัฐจัดเก็บภาษีได้เทียบเท่างบประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วทำไมจึงปล่อยให้เงินหายไป? ถ้ารู้ว่าแรงงานฝีมือกำลังไหลเข้าสายมืด แล้วทำไมไม่มีแผนรองรับ? ถ้ารู้ว่าเด็กอายุ 12 เล่นพนันผ่าน TikTok แล้วทำไมถึงไม่จัดการจริงจัง?
"รัฐพูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ปล่อยให้เว็บผิดกฎหมายดูดคนเก่งไปหมดแล้ว" – นักวิชาการเศรษฐกิจดิจิทัลให้ความเห็น
ภาพ Generative ด้วย AI
อ้างอิงที่มา : posttoday