svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

7 พ.ค. 2419 รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

06 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 วันนี้ในอดีตเมื่อ 148 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระวิมานที่สถิตแห่งพระบรมอัฐิ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งแปดในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "รัชกาลที่ 5" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ระหว่างพระมหามณเฑียรกับพระมหาปราสาท ประกอบด้วย ปราสาท 3 องค์ ทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันโดยตลอด

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ถูกสร้างภายหลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดเกล้าฯ ให้จ้างสถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ชื่อ มิสเตอร์ ยอน คลูนิช เป็นนายช่างออกแบบ นายเฮนรี คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กองผู้ควบคุมการก่อสร้าง พระยาเวียงในนฤบาล เป็นผู้กำกับดูแลการทุกอย่าง และพระประดิษฐการภักดี เป็นผู้ตรวจกำกับบัญชี
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากเป็นผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ "ฝรั่งสวมชฎา" 

เริ่มแรกนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่เป็นแบบตะวันตก แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูลขอให้ทำเป็นปราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนทรงหลังคาเป็นหลังคายอดปราสาท 3 ยอดเรียงกันตามสถาปัตยกรรมไทย และเสด็จยกยอดปราสาทใน พ.ศ. 2421 มีการเฉลิมพระราชมนเฑียรใน พ.ศ. 2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท"

เนื่องจากความเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นกว่าพระที่นั่งอื่น ๆ ทำให้ปัจจุบัน "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" กลายเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดสำคัญที่สุดของพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญที่สุดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เดิมมีพระที่นั่งต่าง ๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งพระที่นั่งทั้งอีก 2 องค์ที่กล่าวถึงนั้นได้รื้อลงแล้วสร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
7 พ.ค. 2419 รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" ประดิษฐานพระบรมอัฐิ
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์และพระมเหสีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา

รวมทั้งเป็นที่เสด็จฯออกให้คณะทูตานุทูต ข้าราชการชั้นสูงเข้าเฝ้า หรือรับรองแขกผู้มีเกียรติ ภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐาน พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์พระที่นั่งทำด้วยไม้หุ้มเงินถมลงยาทาทองซึ่งเรียกว่า ถมตะทอง นับได้ว่าเป็นเครื่องถมทองชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โคมไฟแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ภายในพระที่นั่งนั้น ที่จริงแล้วมิใช่สั่งมาโดยตรง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สั่งมาที่บ้านของตนเอง แต่ปรากฏว่าโคมนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ท่านจึงนำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
7 พ.ค. 2419 รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงไฟฟ้านั้นที่ประเทศทางตะวันตก และมีพระราชประสงค์ที่จะมาใช้ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในพ.ศ. 2542 ได้มีโครงการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนต่อเติมในพื้นด้านหลัง เพื่อใช้ในการพระราชทานเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549

องค์ประกอบ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท 
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 3 ชั้นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างไทยและยุโรปแต่หลังคาเป็นยอดปราสาทแบบไทยมีมุข 3 มุข ภายในพระที่นั่งประกอบด้วย

พระที่นั่งองค์ตะวันออก

  • ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญของพระมหากษัตริย์
  • ชั้นกลางเป็นห้องรับรองพระราชอาคันตุกะภายในประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชโอรส 5 พระองค์
  • ชั้นล่างเป็นห้องสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ลงนามถวายพระพรและเป็นห้องสำหรับราชองครักษ์

พระที่นั่งองค์กลาง

  • ชั้นบนเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7
  • ชั้นกลางเป็นท้องพระโรงหน้า
  • ชั้นล่างเป็นห้องสำหรับกองทหารรักษาการณ์

พระที่นั่งองค์ตะวันตก

  • ชั้นบนเป็นหอพระอัฐิของพระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
  • ชั้นกลางเป็นออฟฟิตหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันเป็นสถานที่รอเข้าเฝ้าของพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นห้องเก็บของและห้องสมุด

มุขกระสันด้านตะวันออก

  • ชั้นบนประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระบวรสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ชั้นกลางเป็นที่สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องอาวุธโบราณ

มุขกระสันด้านตะวันตก

  • ชั้นบนประดิษฐานพระสาทิสลักษณ์ของพระอัครมเหสี 6 พระองค์
  • ชั้นกลางเป็นที่สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
  • ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องอาวุธโบราณ

ท้องพระโรงกลาง

  • ท้องพระโรงกลางกว้าง 12.70 เมตร ยาว 24 เมตรเพดานสูง 14 เมตรภายในประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานถมซึ่งเป็นพระราชอาสน์ประจำพระที่นั่งซึ่งกางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตรใช้เป็นสถานที่สำหรับออกให้คณะทูตานุทูตเฝ้ารวมทั้งถวายพระราชสาสน์ตราตั้งและถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสำคัญ ๆ ภายในท้องพระโรงกลางนี้ประดิษฐานพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่ง มีชื่อว่า พระที่นั่งพุดตานถม

7 พ.ค. 2419 รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ :

logoline