svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต 2 พ.ค. 2526 "ปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกฯ-รัฐบุรุษไทย ถึงแก่อสัญกรรม

01 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เวลาประมาณ 11.00 น. เกิดเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ "ปรีดี พนมยงค์" หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ที่บ้านหน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับนางลูกจันทน์ พนมยงค์ สมรสกับ "พูนศุข ณ ป้อมเพชร์" มีบุตร-ธิดา 6 คน

ด้านการศึกษา ปรีดี เริ่มเข้าเรียนที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี และสำเร็จการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จากนั้นไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า (ปัจจุบันคือ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย) จนสอบไล่ได้ชั้นมัธยม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ปี 2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์เลเดแกร์ (E.LADEKER) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน

ปี 2462 สอบไล่วิชากฎหมายชันเนติบัณฑิตได้ แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องรอจนถึงมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในปี 2463 จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ปี 2466 - 2467 ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิสเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในประเทศอื่นส่วนที่ขึ้นต่อสถานทูตสยามกรุงปารีส ตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกชื่อว่า "สามัคยานุเคราะห์สมาคม" อักษรย่อ "ส.ย.า.ม." เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Association Siamoise d'intellectualite et d' Assistance Mutuelle" อักษรย่อ "S.I.A.M."

ปรีดี พนมยงค์" หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

เข้าร่วม "คณะราษฎร" เปลี่ยนแปลงการปกครอง

ระหว่างศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ปรีดี เริ่มตกลงความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ในเดือนสิงหาคม 2467 และร่วมกับผู้คิดเห็นตรงกันอีก 5 คน

ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อก่อตั้ง "คณะราษฎร" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2469 ณ เลขที่ 5 ถนนซอเมอราร์ กรุงปารีส โดยมีปณิธานให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ ซึ่งต่อมาเรียก "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" ปรีดี ได้รับมอบหมายให้ร่างนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

24 มิถุนายน 2475 ปรีดี เป็นแกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

บทบาทชีวิตทางการเมือง

ปี 2475 ได้รับแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

ปี 2476 ได้ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

ปี 2484 ขณะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ปี 2489 เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2489 ต่อมาปรีดี ได้ลาออกจากนายกฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2489 เพื่อให้รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ที่สุดก็ได้มีพระบรมราชโองการตั้งเขากลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในวันที่ 8 มิถุนายน 2489 เป็นสมัยที่ 2 แต่ก็มีเหตุร้ายขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล หรือรัชกาลที่ 8 สวรรคต

เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ปรีดี ลาออกจากนายกฯ แต่ภายในวันนั้นเอง รัฐสภาก็ได้มีมติสนับสนุนให้ปรีดี กลับมาเป็นนายกฯ โดยได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 แต่ในวันที่ 21 สิงหาคม 2489 เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

เก้าอี้นายกฯ 3 สมัย จึงแปลว่า 3 ครั้งในปีเดียวกัน คือปี 2489 หรือถ้าจะนับระยะเวลาจริงๆ คือราว 5 เดือนเท่านั้น

ลี้ภัยถึงวันสุดท้ายของชีวิต

หลังลาออกจากนายกรัฐมนตรี ปรีดี ยังคงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยชุดใหม่ ภายใต้การนำของ "หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์" ทำภารกิจต่างๆ ที่สำคัญ

กระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เวลา 23.30 น. คณะรัฐประหารนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ทำให้ปรีดี ต้องใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน โดยพำนักอยู่ในจีนเป็นเวลา 21 ปี และฝรั่งเศส 13 ปี

ก่อนที่ปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ช่วงก่อนเที่ยง ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส

ปรีดี พนมยงค์" เครดิตภาพ : สถาบันปรีดี พนมยงค์

ผลงานสำคัญ

ปรีดี ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในประเทศ ติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ ติดต่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยภายนอกประเทศ ภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และร่วมกับรัฐบาลหม่อม ราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช

นอกจากนี้ปรีดี ยังเป็นผู้ดำเนินการประกาศว่า การที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอเมริกาและอังกฤษเป็นโมฆะ พร้อมทั้งหาทางผ่อนคลายสัญญาสมบูรณ์แบบที่ผูกมัดไทย เนื่องจากผลของการแพ้สงคราม

ไทม์ไลน์ชีวิต "ปรีดี พนมยงค์"

  • ปี 2443 เกิดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ปี 2463 (อายุ 20 ปี) ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส
  • ปี 2470 (อายุ 27 ปี) ประชุมก่อตั้งคณะราษฎร ที่กรุงปารีส
  • ปี 2475 (อายุ 32 ปี) ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง
  • ปี 2488 (อายุ 45 ปี) เป็นรัฐบุรุษอาวุโส
  • ปี 2489 (อายุ 46 ปี) เป็นนายกรัฐมนตรี
  • ปี 2490 (อายุ 47 ปี) ถูกยึดอำนาจ
  • ปี 2491 (อายุ 48 ปี) ลี้ภัยในจีน
  • ปี 2513 (อายุ 70 ปี) ออกจากจีน ไปลี้ภัยต่อที่ฝรั่งเศส
  • ปี 2526 (อายุ 83 ปี) เสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ชานกรุงปารีส

 

ข้อมูลอ้างอิง : วิกิพีเดีย, สถาบันปรีดี พนมยงค์, รัฐบาลไทย

logoline