svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

25 เมษา "วันมาลาเรียโลก" รู้ทันพาหะนำโรคที่สำคัญ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน

25 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

25 เมษายน ของทุกปี ถือเป็น "วันมาลาเรียโลก" วันนี้มีความเป็นมาอย่างไร พร้อมพารู้ทันโรคร้ายชนิดนี้ มีอะไรเป็นพาหะสำคัญ ใครบ้างที่เสี่ยง วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน

"วันมาลาเรียโลก" หรือ World Malaria Day ตรงกับวันที่ 25 เมษายนของทุกปี วันนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดย ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย ตลอดจนมุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนร่วมแรงร่วมใจในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

จากการประชุม East Asia Summit (EAS) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 และ การประชุม Roll Back Malaria Partnership (RBM) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหามาลาเรียในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดให้มาลาเรียหมดไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในปี พ.ศ.2573 ในส่วนของประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายให้ปลอดจากโรคไข้มาลาเรียภายในปี พ.ศ. 2567
25 เมษา \"วันมาลาเรียโลก\" รู้ทันพาหะนำโรคที่สำคัญ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน

ยุงก้นปล่อง พาหะนำโรคมาลาเรีย
รู้จักโรคมาลาเรีย


โรคมาลาเรีย (Malaria) มีชื่อเรียกหลายอย่างในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ไข้ป่า ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็น และไข้ดอกสัก เป็นโรคติดต่อที่มี "ยุงก้นปล่อง" บางชนิด เป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง

สำหรับ "ยุงก้นปล่อง" (anopheline mosquito) เป็นแมลงชนิดหนึ่ง และเป็นยุงที่มีขนาดใหญ่กว่ายุงลาย มีสีน้ำตาลหรือสีดำมีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด 

25 เมษา \"วันมาลาเรียโลก\" รู้ทันพาหะนำโรคที่สำคัญ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน
การแพร่เชื้อมาลาเรีย

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า เชื้อก่อโรคมาลาเรียจะมี "ยุงก้นปล่อง" ตัวเมีย เป็นพาหะนำโรค มีหลายสายพันธุ์ มีที่อยู่อาศัยและแหล่งเพาะพันธุ์แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว ยุงก้นปล่องอาศัยในท้องที่ป่าเขา เนื่องจากมีแหล่งเพาะพันธุ์ที่ยุงตัวเมียใช้วางไข่ เช่น ลำห้วย ลำธารที่สะอาด มีน้ำไหลตลอด รวมถึงแหล่งน้ำขังที่มีร่มเงาในป่าเขา ในช่วงฤดูฝนจะพบมากเป็นพิเศษ 

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยมาลาเรีย เชื้อจะสืบพันธุ์แล้วอาศัยอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงที่มีเชื้อมาลาเรียไปกัดคน ยุงก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะไปเจริญเติบโตในเซลล์ตับและเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรคมาลาเรียได้

อาการของโรค

โดยทั่วไปมาลาเรียจะมีอาการนําคล้ายกับเป็นไข้หวัด แต่ไม่มีน้ำมูก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหารร่วมด้วย ซึ่งอาการอาจเป็นอยู่ได้เป็นวันหรือหลายวัน ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด เมื่อแสดงอาการของโรคไข้มาลาเรีย จะประกอบไปด้วย 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะหนาว จะมีอาการหนาวสั่น และเกร็ง ชีพจรเต้นเร็ว ตัวเย็น ซีด อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และปัสสาวะบ่อย 
  2. ระยะร้อน ไข้จะขึ้นสูง ชีพจรเต้นเร็ว ลมหายใจร้อน หน้าและผิวแดง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย 
  3. ระยะเหงื่อออก เหงื่อออกจนเปียกชุ่ม อ่อนเพลีย และชีพจรจะกลับสู่ปกติ และจับไข้ใหม่ตามอาการในข้อ 1-3 ​ผู้ป่วยบางรายจะเกิดโรคมาลาเรียชนิดรุนแรง เม็ดเลือดแดงแตกแบบรุนแรงจนปัสสาวะมีสีน้ำตาลเข้มคล้ายน้ำโคล่า อวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ระบบประสาท ทำงานผิดปกติหรือล้มเหลว เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยมาลาเรียบางชนิด ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อก็สามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี โดยจะไปฝังตัวที่เซลล์ตับแล้วแบ่งตัวออกมาเป็นระยะ จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ หรือเกิดลักษณะของโรคมาลาเรียชนิดเรื้อรังได้

การรักษา มียารักษามาลาเรียหลายขนาน ขึ้นอยู่กับชนิดของมาลาเรีย และมาลาเรียดื้อยาหรือไม่ รวมไปถึง อายุและน้ำหนักของผู้ป่วย เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยง

  • ผู้ที่พักอาศัยบริเวณชายป่า
  • ผู้ที่หาของป่า ล่าสัตว์ กรีดยางพารา
  • เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเวลากลางคืน และนักท่องเที่ยวที่พักค้างแรมในป่า

25 เมษา \"วันมาลาเรียโลก\" รู้ทันพาหะนำโรคที่สำคัญ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน
การป้องกัน

การป้องกันโรคมาลาเรียที่ดีที่สุด คือ ไม่ให้ยุงกัดในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ย่ำค่ำจนถึงรุ่งสาง โดยเฉพาะ "ยุงก้นปล่อง" ที่เป็นพาหะนำโรค 

วิธีป้องกันยุงกัด อาทิ

  • กางมุงนอน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด
  • ทายากันยุงบริเวณผิวหนังภายนอก หรือจุดยากันยุง
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้ปกคลุมมิดชิด
  • หากต้องค้างคืนในไร่นาหรือป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบน้ำยา
  • กำจัดแหล่งลูกน้ำ เช่น บริเวณน้ำกักขัง ฯลฯ
  • เมื่อเดินทางเข้าไปในพื้นที่แหล่งเพาะพันธุ์ของยุง เช่น ตามป่าเขา ควรเพิ่มความระมัดระวังตนเองให้มากยิ่งขึ้น

25 เมษา \"วันมาลาเรียโลก\" รู้ทันพาหะนำโรคที่สำคัญ วิธีสังเกตอาการ และการป้องกัน
 

ขอบคุณข้อมูลจาก : 
https://pineapplenewsagency.com
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โรงพยาบาล บางปะกอก3
รู้ทันโรคแมลง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี กรมควบคุมโรค
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2726058
https://www.thansettakij.com/general-news/522403
https://ddc.moph.go.th/odpc5/news.php?news=42526&deptcode=odpc5

logoline