svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต ศาลสั่งบริษัทน้ำมัน ชดใช้ฯ ทำน้ำมันรั่วลงทะเล  

วันนี้ในอดีต 25 ส.ค. 2559 ศาลแพ่งสั่ง บ.พีทีทีจ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ รายละ 3 -5 หมื่นบาท เลินเล่อปล่อยท่อส่งน้ำมันดิบรั่วลงทะเล

วันนี้ในอดีต 25 ส.ค. 2559  ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมส่วนแพ่ง หมายเลขดำ ที่ สวพ. 2 -8/2557 ที่นางสรชา วิเชียรแลง กับพวกรวม223ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านค้าแผงลอย, ชาวประมงพื้นบ้าน, ผู้ประกอบกิจการเรือเร็ว, โรงแรมและ อื่น ๆ  ของ จ.ระยอง ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกก.บริหารบริษัท พีทีทีฯ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 2 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย จำนวน 1พันล้านบาทเศษ ต่อมาศาลจำหน่ายคดีโจทก์ที่223ที่เรียกค่าเสียหายถึง 1,000ล้านบาทเศษออกจากสารบบ เนื่องจากเข้าสู่แผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปก่อนหน้านี้ คงเหลือโจทก์ 222 คน เรียกค่าเสียหาย รายละระหว่าง 300,000 บาท ถึง 450,000 บาท พร้อมกับให้จำเลยร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมกับค่าเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเงิน

           

กรณีเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2556 จำเลย ซึ่งประกอบอาชีพธุรกิจน้ำมันได้ถ่ายน้ำมันดิบออกจากเรือบรรทุกน้ำมันที่จอดลอยลำบริเวณหน้าอ่าวมะพร้าว ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ลงท่อขนาด 16 นิ้ว เพื่อส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมัน ระหว่างนั้นท่อน้ำมันขนส่งเกิดชำรุด ทำให้น้ำมันดิบปริมาณ 54,000 ลิตรรั่วไหลจากท่อส่งลอยตัวในน้ำทะเลครอบคลุมพื้นที่ ม.1 - 2 ต.เพ, ต.ปากน้ำ เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า ชายหาดบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หาดบ้านเพ จ.ระยอง เป็นเหตุให้สัตว์น้ำ พืชทะเลตาย ปะการังเสียหาย น้ำทะเลมีสารปรอท แคดเมี่ยม และอื่นๆปนเปื้อน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้ามาเที่ยว นานนับปี ทำให้โจทก์ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการได้รับความเสียหายมาก พวกโจทก์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย

            

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่1 ไม่ตรวจสอบท่อน้ำมันตามมาตรฐานสากลหรือโอซีไอเอ็มเอฟ ที่ต้องตรวจสอบทุก 6 เดือน แต่จำเลยกลับไม่ยอมตรวจนานปีเศษ จนแกนโลหะที่พันเส้นใยชั้นในสุดของท่อขาดความยืดหยุ่นและไม่สามารถทนต่อแรงกดได้ จึงเกิดคมโลหะไปบาดท่อส่งจนรั่ว ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหล และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะยกเว้นความรับผิดได้ ขณะที่ จำเลยที่2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

           

ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า พวกโจทก์ไม่แสดงรายการรายรับ- รายจ่าย ต่างๆนั้น ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายตามความเป็นจริง ทั้งนี้มีโจทก์19ราย ที่ไม่นำพยานเข้าสืบให้ศาลเห็นถึงความเสียหายอย่างไร จึงพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้

          

พิพากษาว่า จำเลยที่1,2 มีความรับผิดตามกฎหมายแพ่งฐานละเมิดมาตรา420,437 และพ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา96 ให้ชดใช้เงินแก่โจทก์ผู้เสียหาย รวม 203 คน ที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่า ได้รับความเสียหายจริง จากการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ ประมงชายฝั่ง การให้บริการ และจำหน่ายสินค้าริมหาด รายละ 30,000 บาท ส่วนกลุ่มผู้ทำประมงและเรือท่องเที่ยวรายละ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับแต่วันละเมิด และให้จำเลยทั้งสองดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศรวม 4 โครงการ ในรูปแบบตั้งคณะทำงานร่วม กำหนดค่าดำเนินการไว้ 5.26 ล้านบาท และให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ระบบนิเวศ บริเวณที่เกิดเหตุ 1 ชุด เป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับรายงานศาล และกรมควบคุมมลพิษทราบทุก 6 เดือน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ค่าทนายความ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์