เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน (Vaccine Trial Center) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.โรเบิร์ต โอ คอร์นเนลล์ หัวหน้าแผนก ReTrovirology สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และนายอุดม ลิขิตวรรณวุฒิ คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชนระดับประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าว "วัคซีนเอชไอวี...หมากสำคัญในการป้องกัน"
พญ.พรรณี กล่าวว่า คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา ในการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีมานาน กระทั่งเมื่อปี 2546 มีการวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 3 หรืออาร์วี 144 ในกลุ่มผู้ใหญ่ใน จ.ชลบุรี ระยองทั้งที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อจำนวน 1.6 หมื่นคน ผลคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ร้อยละ 31.2 ใน 3 ปี ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่ทำให้มีความหวังว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ต้องให้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิสูงกว่านี้ และยาวนานกว่านี้จึงได้มีการต่อยอดให้สามารถป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ โดยทำการทดลองในแอฟริกาใต้ซึ่งมีอุบัติการณ์สูง โดยใช้วัคซีนปูพื้นแอด 26 และกระตุ้นด้วยสารสังเคราะห์เลียนแบบเปลือกโปรตีนจีพี 140 ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จึงยังไม่ทราบผล
"ส่วนที่ต่อยอดในเมืองไทยในโครงการ อาร์วี 306 เพื่อหาวัคซีนป้องกันเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์อี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากในเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 360 คน และหาความแตกต่างของการฉีดวัคซีนกระตุ้นที่หลังจาก 12,15 หรือ 18 เดือน หลังเข็มแรกพบว่าการฉีดกระตุ้นห่างกัน 15 เดือนทำให้ภูมิคุ้มกันในเลือดและสารคัดหลั่งสูงกว่าช่วงอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ และคาดว่าปีนี้หรือปีหน้าจะเห็นความคืบหน้า" ศ.พญ.พรรณีกล่าว
นพ.สมาน กล่าวว่า จากข้อมูลของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่าในปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ 1.1 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่ามีข่าวดีที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ในปี 2559 ลงเหลือแค่ 6,304 คน แต่ข่าวร้ายคือผลกระทบยังสูง โดยเฉลี่ยใน 1 ชั่วโมงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน เสียชีวิต 2 คน และเสียชีวิตปีละ 1.5 หมื่นคน และแม้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอตัว แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่อาจะต้องเพิ่มอะไรเข้าไปด้วย และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น หากไม่ทำอะไรอนาคตเป็นปัญหาแน่ๆ อย่างการสวมถุงยางอนามัยนั้นพบว่าลดลง สะท้อนจากการที่มีผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นทั้งหนองใน ซิฟิลิส และปัญหาท้องในวัยรุ่น
"ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พบว่าเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายร้อยละ 53 คู่สามี-ภรรยาที่มีคนหนึ่งติดเชื้อและนำติดต่อสู่คู่ของตนเกือบร้อยละ 30 ส่วนกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศซึ่งอดีตเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากนั้นตนนี้พบว่ามีไม่ถึงร้อยละ 10 และอีกประมาณร้อยละ 5 เป็นผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน ซึ่งกลุ่มนี้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า และยังพบว่าคนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันมีเชื้อเอชไอวีอยู่แล้วเกือบร้อยละ 20 มากกว่าประชากรทั่วไป 20 เท่า จึงต้องมีมาตรการป้องกันการติดเชื้อรายใหม่อย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 1 พันคนต่อปีภายในปี 2579 ซึ่งมีหลายวิธีการ และการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ" นพ.สมาน กล่าว