นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำโครงการเกาะไข่โมเดล ว่า เกาะไข่ เป็นเกาะขนาดเล็ก 3 เกาะ ในพื้นที่จังหวัดพังงา อยู่ไม่ไกลจากจังหวัดภูเก็ต ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและดำน้ำมากกว่า 4,000 คนต่อวัน
เมื่อเทียบต่อปีมีนักท่องเที่ยวมามากกว่า 1.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สอดคล้องกับศักยภาพจะรองรับได้ เพราะเกาะไข่ที่มีพื้นที่เพียง 80 ไร่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติบนเกาะไข่หลายด้าน เช่น การให้อาหารป่า การเก็บเศษปะการัง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
โดยเฉพาะปัญหาขยะมูลฝอยและน้ำเสีย เป็นเรื่องสำคัญของเกาะไข่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด โดยมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะประมาณ 45 ราย ในเบื้องต้นกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวแล้ว เพื่อรณรงค์ไม่แจกหรือใช้ถุงพลาสติกบนเกาะไข่ ควบคู่กับ พยายามลดขยะพลาสติกทุกชนิดบนเกาะให้ลดลงและหมดไป โดยเฉพาะขวดพลาสติกทุกชนิด แก้วกาแฟและหลอดกาแฟที่ทำจากพลาสติก
คาดว่า จะเริ่มเกาะไข่โมเดลได้ประมาณ 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้แผนสิ้นปีนี้จะใช้มาตรการห้ามนำหรือจำหน่ายพลาสติกบนเกาะไข่ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งแรกของประเทศ จะปราศจากขยะพลาสติกได้ หากทำสำเร็จจะนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในพื้นที่เกาะอื่นๆติดชายฝั่งทะเล 22 จังหวัดต่อไป อย่างเกาะล้าน เกาะพีพีดอน ที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะหลีเป๊ะ เกาะสิมิลัน
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชาวบ้าน และท้องถิ่น หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องมากขึ้นต่อเนื่องในการกำจัดขยะออกจากเกาะให้หมดไป เช่น เกาะพีพีดอน มีปริมาณขยะประมาณ 25-30 ตันต่อวัน หากจัดการขยะพลาสติกออกจากเกาะและกำจัดฝังกลบอย่างถูกวิธีจะเป็นอีกเกาะตัวอย่างที่มีการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้