นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี โฆษกเมืองพัทยา เปิดเผยว่าคณะผู้บริหารเมืองพัทยาชุดปัจจุบันได้เดิน ทางไปตรวจสอบยังโรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา เพื่อติดตามข้อเท็จจริงถึงสภาพการใช้งานในปัจจุบัน หลัง จากได้รับการร้องเรียนจากอดีตข้าราชการระดับสูงของจังหวัดชลบุรีท่านหนึ่งว่าปัจจุบันมีน้ำเน่าเสียถูกปล่อยไหลลงสู่ทะเลบริเวณชายหาดวงศ์อมาตย์ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวจนยากจะแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเครื่องจักรของโรงบำบัดน้ำเสียที่ใช้งานมานานมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากขาดการซ่อมบำรุงรักษา โดยเฉพาะระบบหม้อแปลงไฟฟ้าของระบบที่เสียหายชำรุดมานานกว่า 2 เดือนแล้ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาก่อนปล่อยลงสู่ทะเลมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง
สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยามูลค่า 1,800 ล้านบาท ที่ก่อสร้างมานานนับสิบปีนั้นที่ผ่านมามีการว่าจ้างบริษัทเอกชนภายนอก ได้แก่ บ.เวทโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้ามาทำหน้าที่ในการดู แลระบบรวมในระยะครั้งละ 3 ปี ในอัตราค่าจ้างกว่า 30 ล้านบาทซึ่งปัจจุบันได้หมดสัญญาไปแล้ว ทางผู้บริหารจึงใช้อำนาจพิเศษในการว่าจ้างให้เข้ามาดูแลชั่วคราวในระยะเวลา 3 เดือนในขณะนี้ก่อนที่จะทำการว่าจ้างเอกชนรายใหม่เข้ามาดูแล อย่างไรก็ตามจากกรณีที่ทางคณะผู้บริหารเมืองพัทยาได้ลงไปตรวจ สอบก็พบว่าทางบริษัทที่ว่าจ้างไว้แต่เดิมนั้นจะดูแลเพียงเรื่องของระบบเพียงอย่างเดียว ขณะที่การดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรกลไม่ได้รวมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาการชำรุดก็ต้องมีการทำเรื่องผ่านสภาเมืองพัทยาเพื่อขอจัดสรรงบและดำเนินการตามระเบียบทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไข และผลกระทบต่อการบำบัดน้ำเสียในภาพรวม ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่จะทำสัญญาว่า จ้างเอกชนรายใหม่ที่สามารถดูแลระบบได้ทั้ง 2 ประเภทตลอด 24 ชม.เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
นายธเนศ กล่าวต่อไปว่าขณะนี้จากผลพวงของความเสื่อมโทรม และระบบเครื่องจักรที่เสียหายทำให้ความสามารถในการบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาซึ่งควรจะบำบัดได้ในอัตรา 65,000 ลบ.ม./วัน จะเหลือ เพียงความสามารถที่ใช้งานได้จริงเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ทำให้มีปริมาณน้ำเสียไหลทะลักลงสู่ทะเลบริเวณใกล้หน่วยกู้ภัยทางทะเลและชายฝั่งหาดวงศ์อมาตย์เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะผู้ บริหารเมืองพัทยากำลังพยายามเร่งหาแนวทางการแก้ไขเร่งด่วน เพราะอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นได้ โดยเบื้องต้นได้ประสานให้กองช่างสุขาภิบาลเร่งจัดหาหม้อแปลงไฟฟ้าสำรองเพื่อนำมาใช้แก้ไขเป็นการชั่วคราวไปก่อน ก่อนจะนำข้อมูลเสนอต่อสภาเมืองพัทยาพิจารณาจัดสรรงบประ มาณดูแลจัดการเรื่องดังกล่าวในเร็ววันนี้ต่อไป